เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้พึงประเมินประเภทเงินรางวัลจากการชิงโชค
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้พึงประเมินประเภทเงินรางวัลจากการชิงโชคข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2548 บริษัท ด. ทำการจับรางวัลทางสถานีโทรทัศน์ปรากฏว่า เด็กชาย ค. อายุ 2 ปี 8 เดือน บุตรชายของนาย ป. ได้รับรางวัลทองคำหนัก 100 บาท ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 นาย ป. พร้อมด้วยภริยาและบุตรได้เดินทางไปรับรางวัลที่บริษัทฯ มูลค่าของทองคำที่เด็กชาย ค. ได้รับคิดเป็นเงินจำนวน 840,000 บาท บริษัทฯ ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 5.0 ของมูลค่ารางวัลที่ได้รับเป็นเงินจำนวน 42,000 บาท และบริษัทฯ ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของภริยานาย ป. คือ นาง จ. ไม่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในนามของเด็กชาย ค. ผู้ได้รับรางวัล ภริยานาย ป. ทำงานอยู่ที่ธนาคาร เมื่อนำเงินได้ที่ได้รับจากเงินรางวัลมารวมคำนวณภาษีด้วย ทำให้ต้องเสียภาษีมากกว่าที่ควรจะต้องเสียประมาณ 30,000 บาท นาย ป. จึงได้ขอให้บริษัทฯ ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ใหม่ในนามของเด็กชาย ค. แต่บริษัทฯ แจ้งว่า ไม่สามารถแก้ไขได้เพราะได้นำส่งภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายไปแล้ว นาย ป. จึงขอทราบว่า ข้อกฎหมายที่ถูกต้องในกรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นอย่างไร เพื่อนาย ป. จะได้ดำเนินการแก้ไขการยื่นแบบแสดงรายการให้ถูกต้องต่อไป กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 27 มาตรา 27 ตรี มาตรา 35 มาตรา 40(8) มาตรา 47(1)(ค) มาตรา 50 ทวิ มาตรา 56 และมาตรา 57 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. เงินรางวัลจากการชิงโชคดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เด็กชาย ค. จึงมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร และให้ถือว่า เป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรมที่จะยื่นแบบแสดงรายการ และชำระภาษีในนามของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามมาตรา 57 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีบริษัทฯ จ่ายรางวัลจากการชิงโชคเป็นทองคำหนัก 100 บาท ซึ่งคิด คำนวณเป็นเงินจำนวน 840,000 บาท ให้แก่บุตรชายของนาย ป. และได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งในอัตราร้อยละ 5.0 เป็นเงินจำนวน 42,000 บาท แต่ได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในนามของนาง จ. ผู้เป็นมารดาซึ่งมิได้เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมิน เป็นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีผิดพลาดในส่วนของการระบุชื่อผู้มีเงินได้ ฉะนั้น ขอให้นาย ป.นำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายฉบับดังกล่าวไปแจ้งให้บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ฉบับใหม่ ให้แก่เด็กชาย ค. ซึ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว จำนวนสองฉบับมีข้อความตรงกันตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าวในนามของเด็กชาย ค. ให้ถูกต้องอีกครั้ง โดยต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 3 ฉบับใหม่ เพื่อแก้ไขชื่อผู้รับเงินจากนาง จ. เป็นเด็กชาย ค. และให้ระบุในแบบ ภ.ง.ด. 3 ว่า ขอถือเอาภาษีที่ได้หักและนำส่งไว้ในนามของนาง จ. ตามใบเสร็จรับชำระภาษีของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาใด เลขที่ใด ลงวันเดือนปีใด เป็นภาษีที่ได้หักและนำส่งในนามของเด็กชาย ค. ในครั้งหลังนี้โดยอนุโลม พร้อมแนบภาพถ่ายใบเสร็จรับเงิน และภาพถ่ายแบบ ภ.ง.ด.3 ที่นำส่งภาษีไว้ในครั้งแรก พร้อมแบบ ภ.ง.ด. 3 ครั้งหลังด้วย โดยมิต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ หรือเงินเพิ่มแต่ประการใด 3. กรณีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2548 ของนาย ป.และภริยา ถ้าได้นำเงินได้พึงประเมินรางวัลจากการชิงโชคของเด็กชาย ค. ไปรวมคำนวณภาษีไว้แล้ว ต้องดำเนินการปรับปรุงการยื่นแบบแสดงรายการและคำนวณภาษีใหม่ แต่บิดามารดาไม่มีสิทธินำบุตรมาหักลดหย่อนภาษี เนื่องจากบุตรมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป ตามมาตรา 47(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีส่วนที่ชำระไว้เกินให้ขอคืนเงินภาษีได้ ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเด็กชาย ค. ผู้มีเงินได้พึงประเมินจากเงินรางวัลดังกล่าว ถือว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จะต้องยื่นแบบแสดงรายการและต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร และต้องรับผิดทางอาญาตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ทั้งนี้ ต้องแนบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินได้ดำเนินการแก้ไขและออกให้ใหม่แล้ว แนบไปกับแบบแสดงรายการด้วย โดยเป็นหน้าที่ของผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นตัวแทนในการชำระภาษีแทนผู้เยาว์ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค0709/2886 ลงวันที่ 05 เมษายน 2549 |