เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้อเท็จจริงสหกรณ์ออมทรัพย์ได้รับฝากเงินจากสมาชิก ประเภทสินมัธยะที่มีระยะเวลาการฝากไม่น้อยกว่า 24 เดือน ๆ ละไม่เกิน 25,000 บาท และจำนวนเงินรวมเมื่อครบกำหนดไม่เกิน 600,000 บาท เข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามพระราชกฤษฎีกาฯ(ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 สหกรณ์ฯ จึงขอทราบว่า 1. กรณีสมาชิกสหกรณ์ฯ เป็นสามีหรือภริยามีบัญชีเงินฝากคนละหนึ่งบัญชี จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากเพียงบัญชีเงินฝากของสามี ใช่หรือไม่ 2. กรณีภริยาเป็นผู้ฝากเงินก่อนสามี การปฏิบัติเกี่ยวกับการให้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากจะทำในลักษณะใด 3. กรณีสมาชิกสหกรณ์ฯ ผู้ฝากเงินเป็นสามีหรือภริยา และบัญชีเงินฝากของบุคคลใดครบกำหนดและได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากไปก่อนนั้นแล้ว บัญชีเงินฝากของบุคคลที่เหลือจะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับดอกเบี้ยเงินฝากอีกหรือไม่ 4. กรณีสมาชิกสหกรณ์ฯ ผู้เป็นบิดาหรือมารดาได้ฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ และมีบัญชีเงินฝากประเภทดังกล่าวอยู่แล้ว บัญชีที่ฝากให้บุตรผู้เยาว์นอกเหนือจากบัญชีของตนเองจะได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ และมีข้อกำหนดจำนวนบุตรผู้เยาว์ไว้หรือไม่ 5. กรณีการฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับอายุบุตรผู้เยาว์หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 301 พ.ศ. 2539 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร(ฉบับที่ 64)ฯ ลงวันที่ 4 ตุลาคม 2539แนววินิจฉัย1. กรณีตามข้อ 1. ข้อ 2. และข้อ 3. ดอกเบี้ยเงินฝากสหกรณ์ออมทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 64)ฯ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2539 กรณีสมาชิกสหกรณ์ฯ ซึ่งเป็นสามีภริยากัน ได้ฝากเงินไว้กับสหกรณ์ฯ คนละ 1 บัญชี ระยะเวลาในการฝากและครบกำหนดไม่เท่ากัน ดอกเบี้ยเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะต้องเป็นดอกเบี้ยเงินฝากที่เกิดจากการฝากเงินเป็นรายเดือนติดต่อกันมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 24 เดือน นับแต่วันที่เริ่มฝาก โดยมียอดเงินฝากแต่ละคราวเท่ากัน แต่ต้องไม่เกิน 25,000 บาท ต่อเดือน และรวมทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท ตามมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราช กฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 และกรณีสามีภริยาฝากเงิน ไม่ว่าร่วมกันหรือแยกกัน ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่า เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี และบัญชีเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้มีเพียงบัญชีเดียวตามข้อ 1 และข้อ 5.1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 64)ฯ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ดังนั้น ดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากไม่ว่าของสามีหรือภริยาที่ครบกำหนดจ่ายคืนเงินฝากก่อนและอยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไข จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เพียงบัญชีเดียว ส่วนดอกเบี้ยจากบัญชีอื่นถือว่าเป็นดอกเบี้ยเงิน ฝากที่ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีที่สมาชิกสหกรณ์ฯ ผู้ฝากเงินเป็นสามีภริยาและความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี และการฝากเงินรวมกันดังกล่าวให้ถือว่า เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จึงไม่ได้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 301) พ.ศ. 2539 ประกอบกับตามข้อ 5 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 64)ฯ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2539 2. กรณีตามข้อ 4. และข้อ 5. สมาชิกสหกรณ์ฯ ผู้เป็นบิดามารดาเป็นผู้ฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์ตามข้อ 5(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 64)ฯ ลงวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2539 ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ส่วนข้อกำหนดในเรื่องจำนวนบุตรมิได้กำหนดไว้และอายุของบุตรผู้เยาว์นั้นมีความหมาย ตามมาตรา 19 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กล่าวคือผู้เยาว์ ให้หมายถึงผู้ที่มีอายุไม่ครบยี่สิบปีบริบูรณ์ หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/10677 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2548 |