Skip to Content

เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการรับจ้างเขียนบทความ

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการรับจ้างเขียนบทความ


ข้อเท็จจริง

1. หากเป็นการจ่ายเงินให้ผู้เขียนบทความที่เป็นข้าราชการในสำนักงานฯ แม้ผู้เขียนบทความจะมีสิทธิ์ในงานที่ตนทำขึ้น ตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และหากเป็นกรณีที่จ่ายเงินให้นักวิชาการภายนอกผู้เขียนบทความในฐานะเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น ตามมาตรา 10 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินจากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร สำนักงานฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากรกรณีสำนักงานฯ มีการจ่ายเงินสมนาคุณค่าเขียนบทความทางวิชาการให้กับข้าราชการในสำนักงานฯ ถือเป็นกรณีมีการจ่ายเงินพิเศษเป็นครั้งคราวระหว่างปี ให้สำนักงานฯ ปฏิบัติตามข้อ 1 (5) ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.96/2543 เรื่อง การคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร กรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543

2. หากนักวิชาการภายนอกผู้เขียนบทความ และมิได้มอบลิขสิทธิ์ในบทความดังกล่าวให้ผู้ว่าจ้าง เมื่อจะพิมพ์บทความดังกล่าวครั้งต่อไปต้องขออนุญาตจากผู้เขียนก่อนทุกครั้งเงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าลิขสิทธิ์อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร สำนักงานฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากรอนึ่ง เมื่อสำนักงานฯ จ่ายเงินได้มีภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายตามข้อ 1 และ 2 ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานฯ มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 42 (11) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีสำนักงานฯ ได้จ่ายค่าเขียนบทความให้แก่ผู้เขียนบทความที่เป็นข้าราชการในฐานะลูกจ้างของสำนักงานฯ เงินได้ดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นรางวัลเพื่อการศึกษาหรือค้นคว้าในวิทยาการ ตามมาตรา 42(11) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เป็นค่าตอบแทนจากการเขียนบทความทางวิชาการที่ถือเป็นประโยชน์เพิ่มอันเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร และถือเป็นเงินได้พึงประเมินจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร

2. สำหรับกรณีการจ่ายค่าเขียนบทความให้นักวิชาการภายนอกผู้เขียนบทความในฐานะเป็นผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และจ่ายค่าจ้างให้นักวิชาการภายนอกผู้เขียนบทความ และมิได้มอบลิขสิทธิ์ในบทความดังกล่าวให้ผู้ว่าจ้าง เมื่อจะพิมพ์บทความดังกล่าวครั้งต่อไปต้องขออนุญาตจากผู้เขียนก่อนทุกครั้ง เงินได้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าลิขสิทธิ์ตามมาตรา 40(3) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/3280 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2558

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)