เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพข้อเท็จจริงบรรษัทเงินทุนแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบรรษัท เงินทุนแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2539 โดยบรรษัทมีข้อบังคับว่าด้วย การทำงานของพนักงาน พ.ศ. 2532 ระบุดังนี้ "ข้อ 35 พนักงานพ้นสภาพเพราะเหตุครบเกษียณอายุ ดังนี้ 35.1 พนักงานที่มิใช่พนักงานบริการ อายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ 35.2 พนักงานบริการ อายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ 35.3 พนักงานที่ขอเกษียณอายุก่อนกำหนด และได้รับอนุมัติจากบรรษัทให้ เกษียณอายุก่อนกำหนด ตามระเบียบว่าด้วยการเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งกรรมการและผู้จัดการทั่วไปจะ ออกระเบียบโดยทำเป็นคำสั่งเป็นคราว ๆ ไป" จากข้อมูลหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น บรรษัทจึงขอให้พิจารณาประเด็นต่าง ๆ เพื่อเป็น แนวทางในการดำเนินการของบรรษัทต่อไป โดยมีประเด็นดังนี้คือ 1. หากบรรษัทอนุมัติให้พนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนดตามข้อ 35.3 โดยพนักงานมีอายุตัว ไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี พนักงานดังกล่าวอยู่ในข่ายได้รับสิทธิยกเว้นเกี่ยวกับภาษีเงินได้ด้วยหรือไม่ 2. กรณีบางตำแหน่งงานมีการกำหนดวาระดำรงตำแหน่ง หากผู้ดำรงตำแหน่งครบวาระ แล้วไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่ออีกวาระได้ โดยมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขกำหนดไว้ การพ้นสภาพด้วยเหตุนี้ จะสามารถเทียบเคียงเป็นกรณีเดียวกับการครบเกษียณอายุได้หรือไม่ โดยพนักงานมีอายุตัวไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี พนักงานอยู่ในข่ายได้รับ สิทธิยกเว้นเกี่ยวกับภาษีเงินได้ด้วยหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) พ.ศ. 2538?แนววินิจฉัยกรณีตามข้อเท็จจริงที่บรรษัทฯ อนุมัติให้พนักงานเกษียณอายุก่อนกำหนดตามข้อ 1 หรือ กรณี บางตำแหน่งมีการกำหนดวาระดำรงตำแหน่งตามข้อ 2 การที่พนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ มารวมคำนวณภาษี สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมาย ว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กรณีเกษียณอายุ จะต้องเป็นกรณีที่พนักงานได้รับเงินดังกล่าวเพราะเหตุ ออกจากงาน โดยเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีอายุตัวไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย กฎกระทรวง ฉบับที่ 195 (พ.ศ.2538)ฯ ประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 59)ฯ ลงวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/11383 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2541 |