Skip to Content

เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินบำเหน็จและเงินสิทธิประโยชน์พิเศษกรณีเกษียณก่อนกำหนด

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินบำเหน็จและเงินสิทธิประโยชน์พิเศษกรณีเกษียณก่อนกำหนด


ข้อเท็จจริง

สำนักงานฯ เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (คณะกรรมการฯ) มีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด ตามข้อ 7 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยเงินบำเหน็จพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 กำหนดให้พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานฯ มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จเมื่อพ้นจากตำแหน่งด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งใน 6 กรณี และตามข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเบิกจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเกษียณก่อนกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2553 กำหนดให้พนักงานที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ ให้ลาออกจากงานกรณีเกษียณก่อนกำหนดได้รับเงินสิทธิประโยชน์พิเศษเพิ่มเติม คือ เงินจูงใจและเงินจูงใจพิเศษ

สำนักงานฯ ขอหารือปัญหาภาษีอากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

1 กรณีเงินบำเหน็จ ที่จ่ายให้แก่พนักงานและลูกจ้าง ตามข้อ 7 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยเงินบำเหน็จพนักงานและลูกจ้าง พ.ศ. 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 ถือเป็นเงินได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และสำนักงานฯ ผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร ถูกต้องหรือไม่

2 กรณีเงินจูงใจและเงินจูงใจพิเศษที่จ่ายให้แก่พนักงานผู้เข้าร่วมโครงการเกษียณ ก่อนกำหนด ตามข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2553 และประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การเกษียณก่อนกำหนดของพนักงานสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประจำปีงบประมาณ 2556 จึงขอทราบว่า เงินได้ดังกล่าวตามโครงการเกษียณก่อนกำหนด ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 1(1) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 272 (พ.ศ. 2552) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร หรือไม่

3 หากพนักงานผู้เข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนดเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พนักงานดังกล่าวจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือไม่ อย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(1) ข้อ 2(36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126ฯ

แนววินิจฉัย

1. กรณีเงินบำเหน็จตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยเงินบำเหน็จพนักงาน และลูกจ้าง พ.ศ. 2551 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552 เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร อยู่ในบังคับต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และสำนักงานฯ ซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(1) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีเงินจูงใจและเงินจูงใจพิเศษที่จ่ายให้แก่พนักงานผู้เข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนดตาม ข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯ พ.ศ. 2553 และประกาศคณะกรรมการ การเลือกตั้งฯ ประจำปีงบประมาณ 2556 ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการ ตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการตามพระราชกฤษฎีกา เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2551 เนื่องจากพนักงานของสำนักงานฯ ไม่เข้าลักษณะเป็น ข้าราชการ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา เงินช่วยเหลือผู้ซึ่งออกจากราชการ ตามมาตรการปรับปรุงอัตรากำลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2551 ดังนั้น เงินจูงใจและเงินจูงใจพิเศษดังกล่าว จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 1 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 272 (พ.ศ. 2552)ฯ

3. กรณีเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่พนักงานที่เข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนด ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

3.1 กรณีพนักงานออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาโดยตลอดไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน ถ้าเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่องกัน ต้องเป็นสมาชิกไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน ตามข้อ 2(36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 292 (พ.ศ. 2555) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555 ประกอบกับข้อ 3(3)(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 223) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555

3.2 กรณีพนักงานออกจากงานในขณะมีอายุยังไม่ครบ 55 ปีบริบูรณ์ แต่เมื่อออกจากงานแล้ว ได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาโดยตลอดไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน ถ้าเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปีต่อเนื่องกัน แต่ได้เป็นสมาชิกต่อไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน พนักงานจะต้องได้รับเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ หลังจากที่พนักงานนั้นมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์แล้ว ตามข้อ 2(36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 292 (พ.ศ. 2555)ฯ ประกอบกับข้อ 4(3)(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 223)ฯ ลงวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2555




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ 0702/1174 ลงวันที่ 07 มีนาคม 2557

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)