Skip to Content

เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จ่ายเงิน สะสมเข้า กบข.

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จ่ายเงิน สะสมเข้า กบข.


ข้อเท็จจริง

กรณีสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) จ่ายเงินสะสมเข้า กบข. โดยหน่วยงานราชการได้หักเงินได้ของข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. และได้นำส่งเงินสะสม กบข. ดังกล่าว พร้อมเงินสมทบและเงินชดเชยที่เบิกจ่ายจากงบกลาง โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคาร A ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2549 เพื่อโอนเงินไปบัญชีกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แต่ธนาคารฯ โอนเงินผิดบัญชี ธนาคารฯ ได้ตรวจพบและปรับปรุงรายการโอนกลับเข้าบัญชีที่ถูกต้องในวันที่ 3 มกราคม 2550

จึงขออนุมัติให้ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ดังกล่าว สามารถนำเงินได้ที่สมาชิก กบข. จ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุน กบข. ตามจำนวนเงินที่ได้หักไว้จริงในปี 2549 โดยใช้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่พิมพ์ออกจากโปรแกรมของกรมสรรพากรเป็นหลักฐานในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 42(17) และกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2(43)

แนววินิจฉัย

กรณีหน่วยงานราชการได้เบิกจ่ายเงินเดือน ประจำเดือนธันวาคม 2549 ให้กับข้าราชการในสังกัดโดยหักเงินได้ของข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. จ่ายเป็นเงินสะสมเข้า กบข. โดยนำส่งเงินตามเช็คธนาคาร ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2549 แม้ธนาคารฯ โอนเงินผิดบัญชีและได้โอนเข้าบัญชี กบข. ในวันที่ 3 มกราคม 2550 ถือได้ว่า สมาชิก กบข. จ่ายเงินได้เป็นเงินสะสมเข้า กบข. แล้วในเดือนธันวาคม 2549 ดังนั้น สมาชิก กบข. จึงมีสิทธินำจำนวนเงินสะสมที่จ่ายเข้า กบข. ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับ ปีภาษีนั้น ยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามข้อ 2(43) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 208 (พ.ศ. 2540)ฯ และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 62) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2539 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 121)ฯ ลงวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ทั้งนี้ สมาชิก กบข. สามารถใช้หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่ส่วนราชการผู้จ่ายเงินได้ได้ระบุจำนวนเงินที่ได้หักจากเงินได้ของผู้มีเงินได้เข้า กบข. ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าว เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษีนั้นได้




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4009 ลงวันที่ 25 เมษายน 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)