เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรข้อเท็จจริงประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 137) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับดอกเบี้ยเงินฝาก ธนาคารในราชอาณาจักร เฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548 ธนาคารฯ หารือว่า 1. ดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าว 1.1 ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีหมายความว่า ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี เงินได้ ธนาคารฯ จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือผู้มีเงินได้มีหน้าที่จะต้องยื่น แบบแสดงรายการภาษีแล้วจึงขอคืนภาษีภายหลัง ซึ่งธนาคารฯ ยังคงมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1.2 ระยะเวลาหนึ่งปีขึ้นไปคำนวณอย่างไร จะเริ่มต้นนับตั้งแต่ต้นปี 2548 (1 มกราคม) เป็นต้นไปหรือนับย้อนหลังไปในปี 2547 ตัวอย่าง กรณีผู้มีเงินได้เริ่ม ฝากเงินในเดือนเมษายน 2547 ประเภทฝากประจำ 12 เดือน (ดอกเบี้ยจ่ายเข้าบัญชีเมื่อครบ 12 เดือน) ซึ่งครบ 12 เดือนในเดือนเมษายนแล้วได้ทำการปิดบัญชี ทันที (ก่อนสิ้นปี 2548) ดังนั้น ดอกเบี้ยที่จ่ายจะได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ 2. ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี บริบูรณ์ตามข้อหนึ่ง ของประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าว 2.1 การนับอายุผู้มีเงินได้ครบ 55 ปีบริบูรณ์จะนับอย่างไร ต้องอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันใด จากตัวอย่างข้อ 1 อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ในวันที่ฝากเงิน (วันเริ่มต้น การนับระยะเวลาตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป) หรือนับในวันเริ่มต้นของปีภาษี 2548 (1 มกราคม 2548) หรือวันที่ตามประกาศอธิบดี (28 มกราคม2548) หรือ วันที่อายุครบในปีภาษี 2548 (วันเกิด) หรือวันที่ดอกเบี้ยเงินฝากเกิดขึ้นในปีภาษี 2548 2.2 กรณีลูกค้าที่ไม่ทราบวัน เดือน ปีเกิดจะนับวันครบอายุ 55 ปีบริบูรณ์ในวันใด 3. ชื่อบัญชีเงินฝากตามข้อ 2 ของประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าว 3.1 ชื่อบัญชีเงินฝาก หมายถึง ชื่อบัญชีเงินฝาก (ชื่อที่ปรากฏบนหน้าสมุดบัญชีเงินฝาก) หรือชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก (ชื่อผู้มีกรรมสิทธิ์ในเงินฝาก) 3.2 คำว่าคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หมายความรวมถึงกรณีผู้ฝากที่เป็นบุคคลธรรมดาหลายคนหรือหลายนิติบุคคลรวมกันในบัญชีเดียวกันหรือไม่ 3.3 ชื่อบัญชีเงินฝากที่ใช้คำว่า “ฝากเพื่อ...” หรือ “ฝากโดย...” ตัวอย่างเช่น นาย ก. ฝากเพื่อนาย ข. หรือ นาย ข. ฝากโดยนาย ก. ผู้ใดจะได้รับ สิทธิยกเว้นภาษี 4. ดอกเบี้ยไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีนั้นการคำนวณเงินดอกเบี้ยกรณีมีเจ้าของบัญชีเงินฝากร่วมกันฝากหลายคน จะคำนวณให้เพียงคนเดียวหรือเฉลี่ยตามจำนวน ผู้ฝากทุกคน 5. กรณีสามีภริยาฝากเงินร่วมกันและความเป็นสามีภริยามิได้อยู่ตลอดปีภาษีถือว่าดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งไม่ได้รับยกเว้นภาษีใช่หรือไม่ 6. การแจ้งเลขประจำตัวประชาชนตามข้อ 5 ของประกาศอธิบดีฉบับดังกล่าว ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากตามข้อ 1 ที่ต้องแจ้งเลขประจำตัวประชาชน และข้อมูลตามหนังสือ แจ้งขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ (ด.บ.12) กรณีผู้มีเงินได้ที่ใช้เลขประจำตัวประชาชนแบบเก่า จะสามารถบันทึกข้อมูลในแบบฟอร์ม ด.บ.12 ได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 137)ฯแนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1.1 และ 1.2 ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ หมายถึง เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผู้จ่ายเงินได้ ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด และดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากเงินตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไปนั้นต้องได้รับนับตั้งแต่วันที่กฎหมายใช้บังคับ ซึ่งกฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 2. กรณีตาม 2.1 และ 2.2 การนับอายุผู้มีเงินได้ครบ 55 ปีบริบูรณ์ ให้นับตามวัน เดือน ปีที่ผู้ฝากเงินเกิด และหากผู้ฝากเงินไม่ทราบวัน เดือน ปีเกิด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่ วันต้นปีปฏิทิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 3. กรณีตาม 3.1 3.2 และ 3.3 ชื่อบัญชีเงินฝากต้องเป็นชื่อเจ้าของบัญชีเงินฝาก กรณีเจ้าของบัญชีเงินฝากเป็นคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หมายถึง เจ้าของบัญชีเงินฝาก เป็นบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปฝากเงินร่วมกัน และกรณีชื่อบัญชีเงินฝากที่ใช้คำว่า “ฝากเพื่อ ก.” ผู้ที่ได้รับเงินได้ดอกเบี้ยคือ ก. หรือ กรณีชื่อบัญชีเงินฝากที่ใช้คำว่า “ฝากโดย ข.” ผู้ที่ได้รับดอกเบี้ยคือ ข. ซึ่งเป็นผู้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าว 4. กรณีตาม 4. การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากประจำไม่เกิน 30,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น ในกรณีเจ้าของบัญชีเงินฝากร่วมกันฝากหลายคน จะคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากให้บัญชี เงินฝากเพียงบัญชีเดียวในนามคณะบุคคล 5. กรณีตาม 5. สามีและภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกัน และความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นเงินได้ของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล 6. กรณีตาม 6. ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ต้องแจ้งเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร (13 หลัก) และข้อมูล ของผู้มีเงินได้ตามหนังสือแจ้งการขอใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากเลขประจำตัวประชาชนแบบเก่ามีเลขประจำตัวไม่เกิน 13 หลัก ก็สามารถบันทึกข้อมูลในแบบแนบท้ายประกาศ อธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 137)ฯ ลงวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2548 ได้ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/10540 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2548 |