เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการออกจากงานก่อนเกษียณอายุ
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการออกจากงานก่อนเกษียณอายุข้อเท็จจริงสำนักงานคณะกรรมการ ก. แจ้งว่า ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ได้กำหนดเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุไว้ว่า ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่นัอยกว่า 5 ปี ต่อมากรมสรรพากรได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151)ฯ ลงวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2549 เพิ่มเติมเงื่อนไขว่า ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นั้น จึงขอทราบว่า 1. กรณีที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ลูกจ้างจะต้องมีคุณสมบัติครบ 3 ประการ ดังนี้ 1.1 มีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ 1.2 เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 1.3 ครบกำหนดการทำงานกับนายจ้าง ทั้งนี้ การครบกำหนดการทำงานมีได้ 2 กรณี คือ (1) กรณีเกษียณอายุตามที่นายจ้างกำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงาน หากนายจ้างกำหนดเกษียณอายุไว้น้อยกว่า 55 ปี จะเป็นผลให้ลูกจ้างที่ได้รับเงินจากกองทุนไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ แต่หากนายจ้างกำหนดเกษียณอายุไว้มากกว่า 55 ปี กรณีลูกจ้างจะได้รับยกเว้นภาษี ลูกจ้างจะต้องทำงานจนครบอายุเกษียณตามที่นายจ้างกำหนดไว้ในข้อบังคับการทำงานเท่านั้น (2) กรณีสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ลูกจ้างจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ต่อเมื่อลูกจ้างได้ทำงานจนครบเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างแรงงานแล้วเท่านั้น 2. กรณีนายจ้างยอมให้ลูกจ้างเกษียณก่อนกำหนดอายุเกษียณ (Early Retirement) จะพิจารณาว่า เป็นการครบกำหนดการทำงานตามข้อ 1.3 ก็ต่อเมื่อนายจ้างได้ระบุหลักเกณฑ์การอนุญาตให้มี Early Retirement ไว้ในข้อบังคับการทำงานอย่างชัดเจนโดยไม่ต้องมีการใช้ดุลพินิจเพิ่มเติม เช่น กำหนดว่า "นายจ้างจะอนุญาตให้พนักงานเกษียณก่อนอายุได้ หากพนักงานมีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไปและทำงานกับนายจ้างมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี" ทั้งนี้ หากนายจ้างมีลักษณะตามองค์ประกอบในข้อ 1.1 และ1.2 ข้างต้น ก็จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีสำหรับเงินที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฎหมายที่เกี่ยวข้องประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ (ฉบับที่ 151)ฯ และ (ฉบับที่ 158)ฯแนววินิจฉัยการออกจากงานเพราะเกษียณอายุตามกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หรือการออกจากงานก่อนกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน (Early Retirement) เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 เมื่อลูกจ้างนั้นมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ตามข้อ 1 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)ฯ ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 158)ฯ ลงวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ.2549 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/3494 ลงวันที่ 03 เมษายน 2550 |