เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการออกจากงานก่อนการเกษียณอายุ
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการออกจากงานก่อนการเกษียณอายุข้อเท็จจริงนาย ก. อายุ 54 ปี เป็นพนักงานธนาคารฯ (ธนาคารฯ) มีอายุงาน 31 ปี ได้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองแตก เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2552 โดยมีอาการอัมพาตอ่อนแรงซีกขวา ธนาคารฯ ได้แนะนำให้นาย ก. ยื่น ใบลาออกโดยขอรับเงินช่วยเหลือตามระเบียบของธนาคาร ซึ่งพิจารณาตามตำแหน่งองค์กรและอายุงาน นาย ก. มีตำแหน่งเป็นหัวหน้างาน มีอายุงาน 25 ปีขึ้นไป นาย ก. จึงยื่นใบลาออกจากงานโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2553 โดยได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารฯ ดังนี้ 1. เงินช่วยเหลือตามระเบียบของธนาคาร โดยคิดจากเงิน เดือน เดือนสุดท้ายรวมกับค่าครองชีพคูณด้วยอายุงาน 2. เงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3. เงินบำเหน็จชราภาพ จากกองทุนประกันสังคม นาย ก. จึงขอทราบว่า เงินดังกล่าวมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 42 และมาตรา 42 (25) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. เงินช่วยเหลือตามระเบียบของธนาคารเข้าลักษณะ เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวล รัษฎากร ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวม คำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 แห่ง ประมวลรัษฎากร และในขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้เงินได้พึงประเมินดังกล่าวได้ รับการยกเว้นภาษีเงินได้แต่อย่างใด 2. กรณีตาม 2. เมื่อนาย ก. ได้ยื่นความประสงค์จะขอลาออก จากงานก่อนเกษียณอายุ 60 ปี เพราะป่วยด้วยโรคหลอดเลือด สมองแตก หากนาย ก. มีหลักฐานยืนยันจากแพทย์ที่ทางราชการรับรองว่า นาย ก.ออกจากงานเพราะทุพพลภาพ ทำให้ไม่สามารถ ที่จะทำงานในตำแหน่งหน้าที่ซึ่งปฏิบัติอยู่นั้นต่อไป และมีหลักฐานจากธนาคารฯ รับรองว่า นาย ก. ออกจากงานเพราะเหตุดังกล่าว มาแสดง จึงเข้าลักษณะเป็นการออกจากงานเพราะทุพพลภาพ ตามข้อ 1(2) และข้อ 1 วรรคสอง ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณี ลูกจ้างออกจากงาน เพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 เงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่นาย ก. ได้รับจาก กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในกรณีดังกล่าว จึงจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2(36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตาม ความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 3. กรณีตาม 3. หากเป็นเงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตน ได้รับจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วย การประกันสังคม ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(25) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/1968 ลงวันที่ 12 มีนาคม 2553 |