Skip to Content

เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายคืนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)


ข้อเท็จจริง

นาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) โดยซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนเปิดวางแผนภาษีเพื่อการเลี้ยงชีพ ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 และได้ซื้อหน่วยลงทุน (RMF) ติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปี พ.ศ. 2551 รวมระยะเวลา 6 ปี นาย ก. ต้องการ ทราบว่า เมื่อนาย ก. จะออกจากงานในเดือนธันวาคม 2551 โดยมีอายุครบ 55 ปี จะขายหน่วยลงทุน (RMF) ทั้งหมดได้เมื่อใดจึงจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

กรณีนาย ก. ได้ซื้อหน่วยลงทุน (RMF) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2546 และได้ซื้อ หน่วยลงทุน (RMF) ติดต่อกันมาทุกปีจนถึงปี 2551 รวมระยะเวลา 6 ปี หากนาย ก. จะขายหน่วยลงทุน (RMF) ทั้งหมดในขณะที่มีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และได้ถือหน่วยลงทุน (RMF) ดังกล่าว มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก ดังนั้น เงินได้เท่าที่ นาย ก. ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุน (RMF) และเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการขายหน่วยลงทุน (RMF) คืนให้กองทุน (RMF) ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ตาม มาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(55) และ (65) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพและการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ลงวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2544




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/6639 ลงวันที่ 13 ตุลาคม 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)