เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ข้อเท็จจริงกลุ่มสยามพร้อมด้วยผู้ค้ำประกันซึ่งจดจำนองที่ดินเป็นประกัน ได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัท บริหารสินทรัพย์ (บสท.) เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 ด้วยการชำระหนี้คืนให้ บสท. โดยผู้ค้ำประกันที่เป็นผู้จำนอง ที่ดินตกลงขายที่ดินที่จำนองไว้เป็นประกันการชำระหนี้แทนกลุ่มสยามให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำเงินได้มาชำระหนี้ให้แก่ บสท. ซึ่งต่อมาในปี 2552 ผู้ค้ำประกันได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์หลักประกันให้ผู้จะซื้อซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อมีการทำสัญญาซื้อขายกันผู้จะซื้อสามารถให้บุคคลอื่นมาเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาซื้อขายได้ โดยผู้จะซื้อได้ชำระเงินมัดจำบางส่วนซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของราคาซื้อขายที่ดินให้แก่ผู้จะขายในวันทำสัญญาจะซื้อจะขาย และผู้ค้ำประกันได้นำเงินได้ดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่ บสท. เพื่อชำระหนี้แทนกลุ่มสยามและไถ่ถอนจำนองจาก บสท. แล้ว ต่อมาผู้ค้ำประกันได้ทำสัญญาขายที่ดินและตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกที่ผู้จะซื้อกำหนด ภายในปี 2552 จึงได้หารือว่า 1. กลุ่มสยามและผู้ค้ำประกันจะได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 483) พ.ศ. 2552 หรือไม่ 2. กรณีผู้จะซื้อได้ให้บุคคลอื่นมาเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาซื้อขาย โดยกำหนดราคาโอนเท่ากับเงินมัดจำ ที่ผู้จะซื้อได้ชำระให้แก่ผู้จะขาย ผู้จะซื้อมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร 3. หากกลุ่มสยามและผู้จะซื้อได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีในกรณีดังกล่าว จะต้องมีเอกสารหลักฐานใด เพื่อประกอบการพิจารณาใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 483)แนววินิจฉัยกรณีกลุ่มสยามได้ทำการปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับ บสท. เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2548 หากการปรับปรุงโครงสร้าง หนี้ดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และผู้ค้ำประกันได้โอนที่ดินที่จดจำนองเป็นประกันหนี้ให้แก่ผู้อื่นในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยนำเงินได้นั้นไปชำระหนี้แก่ บสท. ตามสัญญาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันซึ่งถือเป็นลูกหนี้ของ สถาบันการเงินตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 483) พ.ศ. 2552 ย่อมได้รับสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษี เงินได้ตามพระราชกฤษฎีกาฯ ฉบับดังกล่าวด้วย โดยจะต้องแสดงหลักฐานสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และหนังสือรับรองหนี้ ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนด ซึ่งมีข้อความอย่างน้อยตามที่แนบท้ายประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข กรณี หนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนด ลงวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 แจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และอธิบดีกรมสรรพากรในการขอรับสิทธิประโยชน์ด้วย สำหรับกรณีผู้จะซื้อให้บุคคลอื่นมาเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตามสัญญาซื้อขาย โดยกำหนดราคาโอนเท่ากับเงินมัดจำที่ผู้จะซื้อ ได้ชำระให้แก่ผู้จะขาย เข้าลักษณะเป็นการโอนสิทธิในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน หากผู้จะซื้อโอนสิทธิดังกล่าวโดยมีค่าตอบแทน ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินค่าตอบแทนจากการโอนสิทธิตามราคาตลาด ในวันที่โอนได้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/8317 ลงวันที่ 02 ตุลาคม 2552 |