Skip to Content

เงินได้ที่ได้รบยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่ลูกจ้างได้รับจากการปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่ลูกจ้างได้รับจากการปิดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ได้ตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้กับพนักงาน โดยให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ก จำกัด

เป็นผู้จัดการกองทุน ต่อมาในปี พ.ศ. 2540 คณะกรรมการของบริษัทฯ ได้มีมติยกเลิกกองทุนตั้งแต่วันที่

1 มกราคม 2541 และจ่ายคืนเงินกองทุนให้กับพนักงานเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 ทราบว่า

เงินได้พึงประเมินที่ได้รับจากการปิดกองทุนดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่ง

ประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้พึงประเมินอื่น ทำให้พนักงานต้องรับภาระ

ภาษีมากขึ้นเป็น 2 เท่า และสำหรับพนักงานที่ใกล้จะเกษียณอายุ ก็มีภาระภาษีแทนที่จะได้รับยกเว้นภาษี

เมื่อได้รับเงินเมื่อเกษียณอายุบริษัทฯ จึงขอให้หามาตรการในการคำนวณภาษีเงินได้จากเงินกองทุน

ดังกล่าว และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือนร้อนให้แก่พนักงาน ขอให้พนักงานยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ

ภ.ง.ด.91 เฉพาะเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ไปก่อนภายในวันที่ 31 มีนาคม

2542 นี้ และยื่นเสียภาษีจากเงินกองทุนฯ เพิ่มเติมเมื่อได้ข้อยุติ


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 27, มาตรา 40, มาตรา 42, มาตรา 48, มาตรา 64, กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ

แนววินิจฉัย

กรณีตามข้อเท็จจริง

1. เงินที่พนักงานได้รับจากการปิดกองทุนฯ ดังกล่าว เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 ถือเป็น

เงินที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เงินได้ดังกล่าว

ไม่ใช่เงินที่พนักงานได้รับเมื่อออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตายตามข้อ 2 (36) แห่ง

กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 195 (พ.ศ.

2538)ฯ ดังนั้น จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร

และหากเงินที่พนักงานได้รับเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2541 นี้ มิใช่กรณีบริษัทฯ เลิกจ้างหรือพนักงานขอ

ลาออกจากงาน จึงมิใช่เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานตามมาตรา 48 (5) แห่ง

ประมวลรัษฎากร พนักงานต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นที่ได้รับในปีภาษี 2541

ตามมาตรา 48 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร และชำระภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2542

ทั้งนี้ ไม่อาจขยายเวลาการชำระภาษีสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปิดกองทุนฯ ดังกล่าวได้

2. สำหรับมาตรการในการบรรเทาภาระภาษี ถ้าจำนวนภาษีที่พนักงานจะต้องเสียสำหรับ

เงินได้พึงประเมินข้างต้นภายในกำหนดวันที่ 31 มีนาคม 2542 มีจำนวนตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป

พนักงานจะชำระภาษีเป็นสามงวด ๆ ละเท่า ๆ กันก็ได้ โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง

ประมวลรัษฎากร ดังนี้

งวดที่หนึ่ง ต้องชำระภายในวันที่ 31 มีนาคม 2542

งวดที่สอง ต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ต้องชำระงวดที่หนึ่ง (ภายในวันที่ 30

เมษายน 2542)

งวดที่สาม ต้องชำระภายในหนึ่งเดือนนับแต่วันสุดท้ายที่ต้องชำระงวดที่สอง (ภายในวันที่

31 พฤษภาคม 2542)

ถ้าไม่ชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว พนักงานหมดสิทธิที่จะชำระ

ภาษีเป็นรายงวดต่อไป และต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับงวดที่ไม่ชำระ

และงวดต่อ ๆ ไป ทั้งนี้ ตามมาตรา 64 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/02738 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2542

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)