Skip to Content

เงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีให้เช่าช่วง

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีให้เช่าช่วง


ข้อเท็จจริง

นาย ว. มีเงินได้จากการให้เช่าช่วงตึกแถวเดือนละ 8,500 บาท ตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมิถุนายน 2551 รวมเป็นเงิน ทั้งสิ้น จำนวน 51,000 บาท โดยมีค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม สำหรับระยะเวลาการเช่า 20 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2560 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น จำนวน 1,200,000 บาท โดยชำระในวันจดทะเบียนการเช่า และนาย ว. ทำงานเป็นพนักงานบริษัทฯ มีรายได้จากเงินเดือน และได้เช่าตึกแถวดังกล่าวเพื่อจะทำกิจการร้านขายยา แต่ยังมิได้ดำเนินการ เริ่มให้เช่าช่วงตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2550 นาย ว. จึงขอทราบว่า ในการยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปีภาษี 2551 กรณีมีเงินได้ จากการให้เช่าช่วงดังกล่าว จะนำค่าเช่าที่จ่ายให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม จำนวน 1,200,000 บาท มาคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเป็น รายเดือน ได้หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(5)(ก) มาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) และมาตรา 4(3)

แนววินิจฉัย

กรณีนาย ว. มีเงินได้จากการให้เช่าช่วงตึกแถว ตามข้อเท็จจริงดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(5)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อเสียภาษี นาย ว. สามารถหักค่าใช้จ่ายเฉพาะค่าเช่า ที่เสียให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม เว้นแต่กรณีมีหลักฐานและพิสูจน์ว่ามีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและ สมควรตามมาตรา 5(1) วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 จึงสามารถนำเอาค่าตอบแทนซึ่งนาย ว. จ่าย ให้แก่ผู้ให้เช่าเดิม จำนวน 1,200,000 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นและสมควร โดยนำมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งจะนำค่าตอบแทนอันเป็นต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่าที่ไม่มีข้อกำหนด ให้ต่ออายุการเช่าได้หรือมีข้อกำหนดให้ต่ออายุการเช่าได้เพียงระยะเวลาอันจำกัดแน่นอน ซึ่งหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ ไม่เกินร้อยละ 100 หารด้วยจำนวนปีอายุการเช่าและอายุที่ต่อได้รวมกัน ตามมาตรา 4(3) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 และหากหลักฐานที่นำมาพิสูจน์นั้น ปรากฏว่ามีรายจ่ายที่หักได้ตามกฎหมายน้อยกว่าอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ ก็ให้ ถือว่ามีค่าใช้จ่ายเพียงเท่าหลักฐานที่นำมาพิสูจน์ ตามมาตรา 43 แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2649 ลงวันที่ 02 เมษายน 2552

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)