Skip to Content

เงินได้จากการรับทำงานให้ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการรับทำงานให้

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการรับทำงานให้


ข้อเท็จจริง

ประกอบกิจการรับเหมาค่าแรงทำประตูและหน้าต่าง ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 เนื่องจากไม่มีหลักฐานเพื่อนำไปหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้

จึงขอทราบว่า เงินได้จากการรับเหมาค่าแรงดังกล่าว มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 70 ได้หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(8) มาตรา 40(2) และมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

เงินค่าแรงงานที่ได้รับจากการประกอบกิจการรับเหมาทำประตูและหน้าต่าง หากการรับจ้างนั้นสามารถกระทำสำเร็จได้ด้วยแรงงานของผู้รับจ้างเพียงคนเดียว เข้าลักษณะเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดายอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ในอัตราร้อยละ 40 แต่รวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท ตามมาตรา 42 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากเงินค่าแรงงานที่ผู้รับจ้างได้รับมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอันทำให้เกิดเงินได้ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนสูง เช่น ค่าใช้จ่ายเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ให้แก่ลูกจ้าง พนักงานและค่าใช้จ่ายอื่น ที่เกี่ยวกับการรับจ้าง เมื่อรวมค่าใช้จ่ายทั้งปีแล้วสูงกว่าอัตราร้อยละ 40 ของเงินได้ ซึ่งได้รับจากการประกอบกิจการจึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร สามารถหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ตามมาตรา 8 ทวิ แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ดังนั้น การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 70 ของรายได้ จึงไม่ใช่การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราที่กฎหมายกำหนด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/9059 ลงวันที่ 01 พฤศจิกายน 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)