เงินเพิ่ม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากรข้อเท็จจริงนางสาว ก ได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดิน ให้แก่นาย ข กับพวกรวม 9 คน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนให้แล้ว จากการตรวจสอบปรากฏว่า เรียกเก็บภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งไม่ครบถ้วน สรรพากรพื้นที่ ได้มีหนังสือเชิญพบและให้ นางสาว ก ไปชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นเงิน 2,527,138 บาท และเงินเพิ่ม 1,175,119.17 บาท (เงินเพิ่มคำนวณจากเดือนกุมภาพันธ์ 2535 ถึง 31 สิงหาคม 2537) ปรากฏว่า นางสาว ก ได้มาพบเจ้าพนักงานฯ และยินยอมชำระภาษีดังกล่าว แต่ได้นำเงินภาษีจำนวน 2,527,138 บาท ไปชำระ ณ สำนักงานที่ดิน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ในวันเดียว กัน แต่ไม่มีเงินเรียกเก็บ แต่ในส่วนของเงินเพิ่ม นางสาว ก แจ้งว่า เกิดจากการคำนวณภาษีไม่ถูกต้อง ของเจ้าพนักงานที่ดิน ตนจึงไม่ควรต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่ม สรรพากรพื้นที่ จึงขอหารือว่า (1) นางสาว ก ในฐานะผู้มีเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ได้ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งไม่ครบถ้วน จำนวน 2,527,138 บาท ณ สำนักงานที่ดิน เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 แล้ว นางสาว ก จึงพ้นความรับผิดตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร ในส่วนของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งไม่ครบถ้วนดังกล่าว ถูกต้องหรือไม่ (2) นาย ข กับพวกรวม 9 คน ต้องรับผิดในเงินเพิ่มภาษี จำนวน 1,175,119.17 บาท (คำนวณจากเดือนกุมภาพันธ์ 2535 ถึง 31 สิงหาคม 2537) แต่เพียงฝ่ายเดียว ตามมาตรา 27 แห่ง ประมวลรัษฎากร เนื่องจากผู้จ่ายเงินได้เป็นผู้มีหน้าที่หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งเงินภาษี ถูกต้องหรือไม่ (3) เจ้าพนักงานควรดำเนินการเรียกเก็บเงินเพิ่มภาษีดังกล่าว โดยออกหมายเรียก ผู้จ่ายเงินได้ตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ถูกต้องหรือไม่ สรรพากรภาคเห็นว่า 1. การที่นางสาว ก ในฐานะผู้มีเงินได้ ได้ชำระเงินภาษีที่หัก ณ ที่จ่ายและนำส่งไม่ ครบถ้วนเป็นเงิน 2,527,138 บาท ณ สำนักงานที่ดินแล้ว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 นางสาว ก จึงหลุดพ้นความรับผิดเฉพาะในส่วนของภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แต่ยังไม่หลุดพ้นความรับผิดในส่วนของ เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อย่างใด 2. นาย ก กับพวกรวม 9 คน ต้องรับผิดเฉพาะเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ประมวลรัษฎากร จำนวน 1,175,119.17 บาท หรือไม่ จะต้องดูว่าการชำระภาษีตามข้อ 1 ถือว่า ถูกต้องหรือไม่ หากถือว่าถูกต้องผู้จ่ายเงินได้ก็คงรับผิดเฉพาะเงินเพิ่มตามจำนวนดังกล่าว แต่ถ้าหากการ ชำระภาษีตามข้อ 1 ถือว่าไม่ถูกต้อง ผู้จ่ายเงินได้จะต้องรับผิดทั้งเงินภาษีที่ยังมิได้หักและนำส่ง พร้อมทั้ง เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกรมสรรพากร ได้วางแนวปฏิบัติไว้ดังนี้ (1) ให้เจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บภาษีจากผู้จ่ายเงินก่อน เนื่องจากผู้จ่ายเงินมี หน้าที่ต้องรับผิดร่วมกับผู้มีเงินได้ ตามมาตรา 54 แห่งประมวลรัษฎากร (2) หากเจ้าพนักงานประเมินเรียกเก็บจากผู้จ่ายเงินไม่ได้ ให้เรียกเก็บจาก ผู้มีเงินได้ ซึ่งหากผู้มีเงินได้ยินยอมชำระภาษีดังกล่าว ก็ให้รับชำระภาษีโดยแบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 แล้วแต่กรณี แต่ถ้าผู้มีเงินได้ไม่ยินยอมชำระภาษีนั้นให้เจ้าพนักงานประเมินดำเนินการดังนี้ (ก) กรณีก่อนกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ให้เจ้าพนักงานประเมินใช้ อำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 18 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร (ข) กรณีพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ให้เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจ ตามมาตรา 19 หรือมาตรา 23 แห่งประมวลรัษฎากร แล้วแต่กรณี ออกหมายเรียกผู้มีเงินได้มาทำ การตรวจสอบไต่สวนและทำการประเมินต่อไป จึงหารือว่า ความเห็นของสรรพากรภาคถูกต้องหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 27, มาตรา 54แนววินิจฉัย1. กรณีตามข้อ 1 เมื่อนางสาว ก ได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากการจดทะเบียนโอน ขาย อสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2535 ไม่ครบถ้วน ได้ไปชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เพิ่มเติมส่วนที่ขาดไป แต่ไม่ชำระเงินเพิ่ม เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2537 ณ สำนักงานที่ดิน โดยได้รับ ใบเสร็จรับเงินในราชการ กรมที่ดิน นางสาว ก จึงหลุดพ้นไม่ต้องรับผิดเฉพาะตัวภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย แต่ยังคงต้องรับผิดในส่วนของเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร ตามความเห็นของ สรรพากรภาค ถูกต้องแล้ว 2. กรณีตามข้อ 2. เมื่อนางสาว ก ได้ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ครบถ้วนแล้ว นาย ข กับพวกรวม 9 คน จึงไม่ต้องรับผิดสำหรับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในส่วนที่ขาดนั้นอีก แต่ยังคงร่วมกัน รับผิดในส่วนของเงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร กับนางสาว ก ตามมาตรา 54 แห่ง ประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/10786 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2542 |