เงินลดทุน/อนุสัญญาภาษีซ้อน ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินลดทุนให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินลดทุนให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีจ่ายเงินลดทุนให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ดังนี้ 1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยมีบริษัท ซ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ร้อยละ 99.99 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัทฯ โดยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2554 งบการเงินของบริษัทฯ ซึ่งผ่านการตรวจสอบและรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาต 2. เนื่องจากมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 กำหนดว่า "ห้ามมิให้สถาบันการเงินถือ หรือมีหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทใดเกินอัตราดังต่อไปนี้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด (1) ร้อยละยี่สิบของเงินกองทุนทั้งหมดของสถาบันการเงินนั้นสำหรับการถือหรือมีหุ้นในทุกบริษัทรวมกัน ..." ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลสถาบันการเงิน กำหนดให้บริษัท ซ. ซึ่งถือเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกันกับธนาคาร ซ. สาขากรุงเทพมหานคร และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. ต้องปฏิบัติตามมาตรา 34 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2555 ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. ประกาศกำหนดตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว บริษัทฯ จึงจำเป็นต้องลดทุนเรือนหุ้นและคืนเงินลดทุนให้แก่บริษัท ซ. ในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เป็นจำนวนเงิน 307,875,650 บาท โดยบริษัทฯ ได้คืนเงินลดทุนเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นการเอาเงินทุนของผู้ถือหุ้นมาคืนทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างแท้จริง 3. บริษัทฯ จึงหารือ ดังนี้ 3.1 จากงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตครั้งสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ปี 2554 ก่อนการคืนเงินลดทุน ปรากฏว่า บริษัทฯ มีผลขาดทุนสะสมยังไม่ได้จัดสรร จำนวน 967,835,590 บาท แม้ว่าจะหักเงินสำรองตามกฎหมาย จำนวน 10,020,000 บาท ก็ตาม บริษัทฯ ยังมีผลขาดทุนสะสมสุทธิ จำนวน 957,815,590 บาท ซึ่ง บริษัทฯ ได้จัดสรรเงินสำรองตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยเงินสำรองดังกล่าว บริษัทฯ จะนำไปจ่ายเป็นเงินลดทุนหรือเงินปันผลไม่ได้ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายต้องการกันเงินสำรองไว้เพื่อเป็นประกันแก่เจ้าหนี้ของบริษัทฯ โดยผู้ถือหุ้นจะเอาไปแบ่งกันไม่ได้จนกว่าจะมีการเลิกบริษัทฯ กรณีดังกล่าว บริษัทฯ เข้าใจว่า เมื่อบริษัทฯ ไม่ได้จ่ายเงินลดทุนจากเงินสำรองตามกฎหมายกำหนด การจ่ายคืนเงินลดทุนในส่วนที่จ่ายไม่เกินสำรองตามกฎหมายให้แก่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัทฯ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการจ่ายเงินลดทุนเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันตามมาตรา 40(4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร 3.2 หากในอนาคต บริษัทฯ มีกำไรสะสม และมีการจ่ายคืนเงินลดทุนในส่วนที่ไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันให้แก่บริษัท ซ. ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ บริษัทฯ เข้าใจว่า บริษัทฯ ในฐานะผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40(4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ที่จ่ายให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากการจ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวเป็นการจ่ายให้แก่บริษัทซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีข้อตกลงตามอนุสัญญาระหว่างราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสหรัฐอเมริกาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (อนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาฯ) บริษัทฯ จะต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 ตามข้อบทที่ 10 "เงินปันผล" หรืออัตราร้อยละ 15 ตามข้อบทที่ 13 "ผลได้จากทุน" 4. ต่อมา บริษัทฯ ชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังนี้ 4.1 บริษัทฯ จ่ายเงินลดทุนให้แก่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ซึ่งกำหนดว่า "ห้ามมิให้สถาบันการเงินถือหรือมีหุ้นโดยทางตรงหรือทางอ้อมในบริษัทใดเกินอัตราที่กำหนด" โดยบริษัทฯ มิได้มีวัตถุประสงค์ล้างผลขาดทุนสะสมของบริษัทฯ แต่อย่างใด 4.2 การจ่ายเงินลดทุนให้แก่บริษัท ซ. จำนวน 307,875,650 บาท เป็นการจ่ายจากทุนเรือนหุ้น ซึ่งเงินจำนวน ดังกล่าวมิได้มีส่วนของเงินสำรองตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือเงินที่กันไว้รวมกัน แต่อย่างใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(4)(ง) มาตรา 70 ข้อ 10 แห่งอนุสัญญาฯ ไทยและสหรัฐอเมริกา และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18)ฯแนววินิจฉัย1. กรณีตาม 3.1 บริษัทฯ ลดทุนเรือนหุ้นและคืนเงินลดทุนให้แก่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย โดยเมื่อพิจารณาจากงบการเงินที่ได้รับการตรวจสอบและรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาตครั้งสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2554 ปรากฏว่า บริษัทฯ มีผลขาดทุนสะสม แต่บริษัทฯ มีเงินสำรองตามกฎหมายกำหนด จำนวน 10,020,000 บาท แสดงว่า ในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนปี 2554 บริษัทฯ มีผลกำไรจากการประกอบกิจการและได้จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยจัดสรรเงินสำรองตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินลดทุน ให้แก่ผู้ถือหุ้น เงินลดทุนเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน จึงเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีตาม 3.2 หากในอนาคต บริษัทฯ มีกำไรสะสมและจ่ายเงินลดทุนในส่วนที่ไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกันคืน ให้แก่บริษัท ซ. เนื่องจากการจ่ายเงินดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อ บริษัทฯ จ่ายเงินให้แก่บริษัท ซ. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 ตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับ ข้อ 10 แห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาฯ และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/1413 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2556 |