เงินลดทุน ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลดทุนบริษัท
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลดทุนบริษัทข้อเท็จจริง1. บริษัท ล. ไม่ได้ประกอบกิจการ แต่มีเงินได้จากเงินปันผลเมื่อปี 2549 และมี เงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากประจำของธนาคาร ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 รอบระยะ เวลาบัญชีปี 2549 เพื่อขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และตามบัญชีงบดุลของบริษัทฯ ปรากฏว่า บริษัทฯ มีกำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรรในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 จำนวน 4,044,817.52 บาท และในปี 2549 จำนวน 3,669,289.51 บาท 2. บริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 7,000,000 บาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 700 หุ้น มูลค่า หุ้นละ 10,000 บาท เรียกเก็บเงินค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นร้อยละ 50 มูลค่า 5,000 บาทต่อหุ้น ส่วนเงินค่าหุ้นที่เหลือนั้น บริษัทฯ ยังไม่ได้เรียกเก็บจากผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด ต่อมาเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2549 และวันที่ 9 กันยายน 2549 บริษัทฯ ได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น โดยที่ประชุมมีมติให้ลดทุนจดทะเบียนลงกึ่งหนึ่ง คงเหลือทุนจดทะเบียนเพียง 3,500,000 บาท เป็นการลดทุนในส่วนที่ผู้ถือหุ้นยังไม่ได้ส่งค่าหุ้น ซึ่งจำนวนหุ้นยังคงเท่าเดิม แต่ลด มูลค่าหุ้นลงเหลือหุ้นละ 5,000 บาท และบริษัทฯ ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนลดทุนต่อ นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2549 โดยไม่ได้บันทึกรายการในบัญชี ต่อมาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2549 บริษัทฯ ได้จัดพิมพ์ใบหุ้นชุดใหม่เพื่อออกให้แก่ผู้ถือหุ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3. บริษัทฯ เห็นว่า การจดทะเบียนลดทุนดังกล่าว เป็นการลดทุนในส่วนที่ยังไม่ได้ เรียกเก็บเงินค่าหุ้น ซึ่งบริษัทฯ ได้นำมูลค่าของการลดทุนหักกับเงินค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นยังไม่ได้ จ่ายในส่วนที่เหลืออีกจำนวนร้อยละ 50 โดยไม่มีการจ่ายเงินให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ประการใด จึงไม่ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ของผู้ถือหุ้น และบริษัทฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 7,000,000 บาท เป็นหุ้นสามัญจำนวน 700 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10,000 บาท และบริษัทฯ ได้เรียกเก็บค่าหุ้นจากผู้ถือหุ้นเพียงร้อยละ 50 ของมูลค่าหุ้น ต่อมาได้ลดทุนจดทะเบียนลงโดยลดมูลค่าหุ้นลงกึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการลดทุน ในส่วนที่ผู้ถือหุ้นยังคงค้างจ่ายค่าหุ้นนั้น เนื่องจากมาตรา 1106 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า "การที่เข้าชื่อซื้อหุ้นนั้น ย่อมผูกพันผู้เข้าชื่อโดยเงื่อนไขว่า ถ้าบริษัทตั้งขึ้นแล้วจะใช้จำนวนเงินค่าหุ้นนั้นๆ ให้แก่บริษัทตามหนังสือชี้ชวนและ ข้อบังคับของบริษัท" และมาตรา 1119 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า "หุ้นทุกๆ หุ้น จำต้องให้ใช้เป็นเงินจนเต็มค่า..." การที่บริษัทฯ จดทะเบียนลดทุนดังกล่าว แม้จะไม่ได้มีการคืนเงินส่วนลดทุนให้แก่ผู้ถือหุ้น แต่ก็ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่ต้องชำระค่าหุ้น ในส่วนที่เหลือ ทั้งยังหลุดพ้นจากหน้าที่ที่จะต้องชำระค่าหุ้นซึ่งผู้ถือหุ้นมีหน้าที่ต้องชำระ จนเต็มค่าตามกฎหมาย ถือว่าบริษัทฯ ใช้วิธีการหักกลบลบหนี้ระหว่างเงินลดทุนที่ต้อง จ่ายคืนผู้ถือหุ้นกับมูลค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นยังต้องชำระ ซึ่งถือว่ามีการชำระหนี้แล้วตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น การที่บริษัทฯ จดทะเบียนลดทุนตาม ข้อเท็จจริง ย่อมถือเป็นประโยชน์อย่างอื่นที่ผู้ถือหุ้นได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/4859 ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2551 |