เงินปันผลรับ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนำเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นรายได้
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการนำเงินปันผลมารวมคำนวณเป็นรายได้ข้อเท็จจริงบริษัท ต. ลงทุนในกองทุนรวม และได้รับเงินปันผลจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยบริษัทฯ ได้ลงทุนในกองทุนรวมก่อนจ่ายเงินปันผลเกิน สามเดือน และหลังจ่ายเงินปันผลเกินสามเดือน ซึ่งเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับมีทั้งเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับโดยถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 และเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับโดยมิได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. บริษัทฯ จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลจากเงินปันผลหรือไม่ อย่างไร 2. บริษัทฯ จะนำภาษีหัก ณ ที่จ่าย มาเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(8) มาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 263) พ.ศ. 2536 มาตรา 27 ตรีแนววินิจฉัย1. กรณีตาม 1. เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 263) พ.ศ. 2536 ได้กำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่ (1) บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้จำนวนกึ่งหนึ่ง (2) บริษัทจดทะเบียน สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้ทั้งจำนวน ทั้งนี้ ความในข้างต้นมิให้ใช้บังคับในกรณีที่บริษัทหรือบริษัทจดทะเบียนตาม (1) หรือ (2) มีเงินได้ที่เป็นเงินส่วนแบ่ง ของกำไรดังกล่าว โดยถือหน่วยลงทุนที่ก่อให้เกิดเงินส่วนแบ่งของกำไรนั้นไม่ถึงสามเดือนนับแต่วันที่ได้หน่วยลงทุนนั้นมาถึงวันที่มีเงินได้ดังกล่าว หรือได้โอนหน่วยลงทุนนั้นไปก่อนสามเดือนนับแต่วันที่มีเงินได้ ดังนั้น หากบริษัทฯ ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 โดยถือหน่วยลงทุนเป็นระยะเวลาตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จำนวนกึ่งหนึ่งหรือทั้งจำนวนแล้วแต่กรณี 2. กรณีตาม 2. เงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หากบริษัทฯ ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี บริษัทฯ จึงมีสิทธิขอคืน โดยยื่นคำร้องตามแบบ ค.10 ขอคืนภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/11294 ลงวันที่ 08 พฤศจิกายน 2550 |