เงินที่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานข้อเท็จจริงสำนักงานสรรพากรจังหวัดได้รับแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2542 ของ ข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่ออกจากงานตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด จึงหารือ การคำนวณภาษีเงินได้สำหรับเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานว่าความเห็นของ จังหวัดฯ ถูกต้องหรือไม่ ดังนี้ 1. เงินบำเหน็จของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น ที่ทำการไปรษณีย์ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ฯลฯ กรณีพนักงานลาออกตามโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดและกรณีพนักงาน เกษียณอายุ เนื่องจากไม่มีหน่วยงานใดที่ใช้วิธีการคำนวณบำเหน็จตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับ วิธีการคำนวณบำเหน็จ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จข้าราชการได้ทั้งหมด ถือว่าเงินบำเหน็จดังกล่าวเป็น เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตามข้อ 1(ก) จึงถือว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามข้อ 1(ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 2. กรณีผู้มีเงินได้ได้รับเงินเดือนเดือนสุดท้ายไม่เต็มเดือนเนื่องจากลาออกก่อน เกษียณอายุ เช่น อัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออกจากงานเดือนพฤษภาคม 2542 คือ 49,910 บาท แต่เนื่องจากลาออกเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2542 เงินเดือนเดือนพฤษภาคม 2542 จึงได้รับเพียง 29 วัน เป็นเงิน 46,690 บาท เงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่าย คือ 46,690 บาท 3. เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจากเกษียณอายุโดย เป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และมีอายุงานไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษี ทั้งจำนวน ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ข้อ 36 ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 42(17), มาตรา 48 (5)แนววินิจฉัยกรณีตาม 1. ถูกต้องแล้ว ทั้งนี้ตามนัยข้อ 1(ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 กรณีตาม 2. ความเห็นของจังหวัดฯ ยังคลาดเคลื่อนอยู่ ในกรณีผู้มีเงินได้ได้รับ เงินเดือนเดือนสุดท้ายไม่เต็มเดือน เนื่องจากลาออกก่อนเกษียณอายุ เงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ใช้ใน การคำนวณค่าใช้จ่าย หมายความถึงจำนวนเงินเดือนสำหรับระยะเวลาเต็มเดือนเดือนสุดท้าย ทั้งนี้ ตาม นัย ข้อ 3(4) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ดังนั้น อัตราเงินเดือนเดือนสุดท้ายที่ออกจากงานที่นำมาคำนวณค่าใช้จ่ายคือจำนวน 49,910 บาท กรณีตาม 3. เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงานของหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อ ลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำรวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 นั้น ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และ (ก) เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมา แล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือ (ข) เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในระหว่างวันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2537 ถึงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 และได้ออกจากงาน เพราะเกษียณอายุก่อนวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543 ซึ่งมีระยะเวลาที่ทำงานกับนายจ้างนั้นก่อน เกษียณอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี ทั้งนี้ ตามข้อ 1(1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811(กม.06)/1025 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2543 |