เงินที่นายจ้างให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบำเหน็จดำรงชีพของพนักงานธนาคาร อ.
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีบำเหน็จดำรงชีพของพนักงานธนาคาร อ.ข้อเท็จจริงธนาคาร อ. ได้จ่ายบำเหน็จดำรงชีพจำนวน 15 เท่าของบำนาญรายเดือน เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2547 พนักงานธนาคาร อ. ผู้มีสิทธิได้รับบำเหน็จดำรงชีพจำนวน 15 เท่าของบำนาญรายเดือน จึงมีสองกลุ่มคือ 1. กลุ่มที่ออกจากงานก่อนปีภาษี 2547 2. กลุ่มที่ออกจากงานตั้งแต่ปีภาษี 2547 เป็นต้นไป สมาคมฯ จึงขอทราบว่า บำเหน็จดำรงชีพของพนักงานธนาคาร อ. ส่วนที่เกิน 200,000 บาท ที่นายจ้างจ่ายครั้งเดียวเพราะออกจากงาน พนักงานธนาคาร อ. ที่ออกจากงานก่อนปีภาษี 2547 จะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยพนักงานธนาคาร อ. ที่ออกจากงานก่อนปีภาษี 2547 และได้รับบำเหน็จดำรงชีพในปีภาษี 2547 บำเหน็จดำรงชีพส่วนที่เกิน 200,000 บาท ที่พนักงานธนาคาร อ. ได้รับ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ตามข้อ 1(ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 และมิใช่เงินได้ที่นายจ้างได้จ่ายให้ในปีภาษีแรกที่มีการจ่ายเงินได้ในกรณีนี้ ก็จะไม่มีสิทธินำเงินได้นั้น มาเลือกคำนวณภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น ทั้งนี้ ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค. 0706/6869 ลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2550 |