เงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเกษียณอายุก่อนกำหนด
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีเงินได้จากการเกษียณอายุก่อนกำหนดข้อเท็จจริงนาย A และนาง B คู่สมรสได้ลาออกจากงานในปี พ.ศ. 2543 ตามโครงการสมัครใจ เกษียณอายุก่อนกำหนดของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) บุคคลทั้งสองได้แยก ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ของปีภาษี พ.ศ. 2543 โดยแสดงเงินได้ดังนี้ นาย A มีเงินได้เงินเดือน 422,550 บาท โบนัสและเงินเพิ่มพิเศษ 165,655 บาท บำเหน็จ 1,173,750 บาท เงินชดเชย 281,700 บาท ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,408,500 บาท ส่วนนาง B มีเงินได้จากเงินเดือน 365,910 บาท ค่าล่วงเวลา 5,678.44 บาท โบนัสและเงินเพิ่มพิเศษ 140,385 บาท บำเหน็จ 1,274,720 บาท เงินชดเชย 246,720 บาท ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ 1,233,600บาท ตามแบบ ภ.ง.ด.91 ของบุคคลทั้งสอง ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีสำหรับเงินชดเชยจำนวน 300,000 บาท ตาม กฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) พ.ศ. 2509 ฯ เพราะเป็นโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดไม่ได้เขียน ใบลาออกเอง ส่วนเงินบำเหน็จที่รับจากธนาคารฯ ได้นำไปกรอกในข้อ 1 ของใบแนบแบบ ภ.ง.ด.91 โดยไม่นำไปรวมกับเงินได้อื่นเมื่อคำนวณภาษี เพราะเห็นว่าเป็นเงินได้ที่คำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จ ข้าราชการ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ เห็นว่า ไม่มีหน่วยงานใดใช้วิธีคำนวณบำเหน็จตามหลักเกณฑ์ และวิธีการเช่นเดียวกับการคำนวณบำเหน็จข้าราชการได้ทั้งหมด เงินบำเหน็จดังกล่าวจึงควรเป็นเงินได้ ที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างจากบำเหน็จข้าราชการ สำนักงานภาษีสรรพากรพื้นที่ หารือว่า 1. กรณีลูกจ้างสมัครใจเข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดเช่นกรณีนี้เงินชดเชยจะได้รับสิทธิ ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ 300,000 บาท ตามกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) พ.ศ. 2509 ฯ หรือไม่ 2. กรณีเงินบำเหน็จที่บุคคลทั้งสองดังกล่าวได้รับ ถือว่าเป็นเงินได้ซึ่งมีวิธีคำนวณแตกต่างจาก การคำนวณบำเหน็จข้าราชการหรือไม่ เพราะเหตุใด สำนักงานสรรพากรภาค เห็นว่า การเกษียณอายุก่อนกำหนดถือว่าเป็นการสมัครใจลาออกจาก งาน เงินชดเชยที่บุคคลทั้งสองได้รับจากการเกษียณอายุก่อนกำหนดจึงไม่ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามข้อ 2(51) ของกฎกระทรวง (ฉบับที่ 126) พ.ศ. 2509 ฯ สำหรับ เงินบำเหน็จที่บุคคลทั้งสองได้รับเป็นเงินได้ที่คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับการคำนวณ บำเหน็จตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ตามข้อ 1(ก) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 สำนักงานสรรพากรภาค จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาข้อหารือดังกล่าวแล้วแจ้งผลให้ทราบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 42(17), 48(5)แนววินิจฉัย1. กรณีนาย A และนาง B ได้มีหนังสือแสดงความประสงค์เกษียณอายุก่อนกำหนด ถือได้ว่า เป็นการสมัครใจออกจากงาน ดังนั้น เงินที่บุคคลทั้งสองได้รับจากธนาคารฯ นายจ้างในกรณีดังกล่าว จึง ไม่เข้าลักษณะเป็นค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ตามข้อ 2(51) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 217 (พ.ศ. 2542)ฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42(17) แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. กรณีเงินบำเหน็จที่คำนวณแบบข้าราชการที่บุคคลทั้งสองได้รับจากธนาคารฯนายจ้าง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดใช้วิธีการคำนวณบำเหน็จตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณบำเหน็จตาม กฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ทั้งหมด และเงินบำเหน็จที่บุคคลทั้งสองได้รับก็มิได้ใช้วิธีการ คำนวณบำเหน็จตามหลักเกณฑ์และวิธีการเช่นเดียวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จตามกฎหมาย ว่าด้วยบำเหน็จ บำนาญข้าราชการได้ทั้งหมดเช่นกัน ดังนั้น เงินบำเหน็จดังกล่าวจึงถือเป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียว เพราะเหตุออกจากงานที่มีวิธีการคำนวณแตกต่างไปจากวิธีการตามข้อ 1 (ก) จึงถือเป็น เงินได้พึงประเมินตามข้อ 1(ง) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 45)ฯ ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2535 ซึ่งผู้มีเงินได้พึงประเมินดังกล่าวจะเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจาก เงินได้อื่นได้ตามมาตรา 48(5) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/7656 ลงวันที่ 02 สิงหาคม 2544 |