เครดิตภาษีต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเครดิตภาษี และการลงรายจ่ายภาษีที่เสียไปในต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเครดิตภาษี และการลงรายจ่ายภาษีที่เสียไปในต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัทฯ เป็นนิติบุคคลจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกิจการขายส่ง ขายปลีกคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ทั้ง Hardware และ Software ให้บริการคำปรึกษา และบริการจัดการระบบคอมพิวเตอร์ทั้ง Hardware และ Software โดยบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ กรณีลูกค้าในต่างประเทศจะมีทั้งประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย และประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หากบริษัทฯ ได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศดังกล่าวมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามอนุสัญญาภาษีซ้อนแล้ว ปรากฏว่า ยังมีจำนวนภาษีที่ได้เสียไปแล้วในต่างประเทศยังเหลืออยู่ บริษัทฯ มีสิทธินำเครดิตภาษีที่เหลืออยู่มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ในประเทศไทยได้หรือไม่ อย่างไร 2. บริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หากบริษัทฯ ได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ปรากฏว่า ยังมีจำนวนภาษีที่ได้เสียไปแล้วในต่างประเทศยังเหลืออยู่ บริษัทฯ มีสิทธินำเครดิตภาษีดังกล่าวมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ในประเทศไทยได้หรือไม่ อย่างไร 3. บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามอนุสัญญาภาษีซ้อน และมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 หรือเลือกนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ในประเทศไทย บริษัทฯ มีสิทธิเลือกจะนำภาษีที่เสียไปแล้วในต่างประเทศบางประเทศมาเครดิตภาษีที่ถูกจัดเก็บในประเทศไทยและหรือมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ได้หรือไม่ หรือจะต้องนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศทุกประเทศมารวมกันทั้งหมดมาเครดิตภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทย หรือนำมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2505 มาตรา 65 ตรี (6) พระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539แนววินิจฉัย1. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หากบริษัทฯ ได้นำเงินได้ทั้งจำนวนที่ได้รับจากการให้บริการดังกล่าวโดยไม่หักภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศบวกกลับเป็นรายได้ของบริษัทฯ และได้นำภาษีดังกล่าวมาขอเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้สิทธิประโยชน์ในฐานะผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามบทบัญญัติในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำกับประเทศต่าง ๆ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 โดยการใช้สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาภาษีซ้อนฉบับดังกล่าว มีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอเครดิต บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีบริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หากบริษัทฯ ได้นำภาษีที่ถูกจัดเก็บในประเทศคู่ค้ามายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 หากปรากฏว่า การใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 3. บริษัทฯ มีสิทธิในการเลือกเพื่อบรรเทาภาระภาษีที่เสียไปในต่างประเทศโดยแยกพิจารณาออกเป็นแต่ละประเทศตามวิธีการใดวิธีการหนึ่งสำหรับแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีดังต่อไปนี้ 3.1 เลือกนำมาลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 3.2 เลือกนำภาษีที่เสียไปในต่างประเทศมาขอเครดิตในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลโดยใช้สิทธิประโยชน์ในฐานะผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยตามบทบัญญัติในอนุสัญญาภาษีซ้อนที่ประเทศไทยได้ทำกับประเทศต่าง ๆ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 18) พ.ศ.2505 ในกรณีที่บริษัทฯ ได้ให้บริการแก่ลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนกับประเทศไทย หรือ 3.3 เลือกนำภาษีที่ถูกจัดเก็บในต่างประเทศมายกเว้นภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 โดยปฏิบัติตามข้อ 10 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/10858 ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2548 |