Skip to Content

เครดิตภาษีต่างประเทศ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกรณีการเครดิตภาษีเงินได้ต่างประเทศ

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีกรณีการเครดิตภาษีเงินได้ต่างประเทศ


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ หารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการเครดิตภาษีเงินได้ต่างประเทศ โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า บริษัทฯ ประกอบธุรกิจให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัทฯ มีเงินได้ประเภทค่าสิทธิที่ได้รับจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศซึ่งเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 โดยบริษัทฯ ได้ชำระภาษีเงินได้ที่คำนวณจากเงินได้ดังกล่าวในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 และใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนเท่ากับภาษีเงินได้ที่เสียไปในต่างประเทศ แต่ไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียในประเทศไทยส่วนที่คำนวณจากเงินได้ที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในระมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 ประกอบกับข้อ 1 และข้อ 2 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข

การยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ซึ่งการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีความเข้าใจ ดังนี้

1. กรณีบริษัทฯ มีเงินได้ประเภทค่าสิทธิซึ่งเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 และบริษัทฯ ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล (แบบ ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ต่อมาบริษัทฯ ได้ชำระภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ค่าสิทธิดังกล่าวในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงภาษีให้ถูกต้อง โดยนำภาษีเงินได้ที่บริษัทฯ ได้เสียไปในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 มายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องเสียในประเทศไทยตามแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่รายได้ค่าสิทธิเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร

2. กรณีการใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวมีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 ดังนั้น บริษัทฯ ต้องนำรายจ่ายดังกล่าวมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่รายได้ค่าสิทธิเกิดขึ้น มิใช่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทฯ ได้เสียภาษีไว้จริงในต่างประเทศ ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 มาตรา 65 ตรี (6) ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65) และพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300)ฯ

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย มีรายได้ประเภทค่าสิทธิจากบริษัทในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 โดยบริษัทฯ ได้รับรู้รายได้ดังกล่าวตามเกณฑ์สิทธิ และได้นำเงินได้นั้นไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล พร้อมทั้งยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 แล้ว แต่บริษัทฯ ได้ชำระภาษีเงินได้ที่คำนวณจากเงินได้ดังกล่าวในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 กรณีดังกล่าว บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 เพิ่มเติม เพื่อปรับปรุงภาษีให้ถูกต้อง โดยนำจำนวนภาษีเงินได้ที่บริษัทฯ ได้เสียไปในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 มายกเว้นภาษีเงินได้ที่ต้องเสียในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ซึ่งเป็นรอบระยะเวลาบัญชีที่บริษัทฯ มีรายได้ค่าสิทธิ ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 65)ฯ ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539

2. กรณีตาม 2. เมื่อบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิประโยชน์ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ. 2539 แล้ว ปรากฏว่า มีผลต่างของจำนวนภาษีที่เสียไว้ในต่างประเทศกับจำนวนภาษีที่ขอยกเว้น บริษัทฯ มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 3(2) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 300) พ.ศ.2539 ซึ่งรายจ่ายดังกล่าวเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 แม้บริษัทฯ จะชำระภาษีให้บริษัทในต่างประเทศในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 บริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณเป็นรายจ่ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2555 ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/8746 ลงวันที่ 07 ตุลาคม 2556

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)