Skip to Content

เกณฑ์การรับรู้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล การรับรู้รายได้รายจ่ายตามเกณฑ์เงินสด

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล การรับรู้รายได้รายจ่ายตามเกณฑ์เงินสด


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ได้เข้าประมูลซื้อบัญชีลูกหนี้เช่าซื้อจากสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกสั่งพักกิจการ

โดยผ่านองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ("ปรส.") และได้ทำการแปลงหนี้ใหม่ โดยบริษัทฯ

เข้าเป็นผู้ให้เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อ และมีสิทธิรับเงินค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระหรือจะถึงกำหนดชำระตาม

สัญญาจากลูกหนี้ผู้เช่าซื้อต่อไป เนื่องจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน 56 แห่ง เป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพ

และจะก่อให้เกิดหนี้สูญเป็นจำนวนมาก ปรส. จึงได้ขออนุมัติจากกรมสรรพากรให้ผู้ประมูลซื้อบัญชีลูกหนี้

สามารถเลือกคำนวณกำไรสุทธิตามเกณฑ์เงินสด ซึ่งจะไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลในหนี้ค่างวดที่ถึง

กำหนดชำระแต่ยังไม่ได้รับจริง ทั้งนี้ เพื่อให้ ปรส.สามารถดำเนินการขายบัญชีลูกหนี้ได้ในราคาที่สูงขึ้น

และเพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมประมูลมากขึ้น

บริษัทฯ ได้เลือกใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ

รอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2541 ตามหลักการที่กรมสรรพากรได้ให้ไว้กับ ปรส. และขอหารือดังต่อไปนี้

1. บริษัทฯ รับรู้รายได้ค่างวดจากสัญญาเช่าซื้อเมื่อได้รับชำระจริงตามเกณฑ์เงินสด บริษัทฯ

มีต้นทุนการซื้อบัญชีลูกหนี้ที่ได้จ่ายไปในรอบระยะเวลาบัญชีเดียวกันเป็นจำนวนมาก และไม่ประสงค์จะ

รับรู้ต้นทุนดังกล่าวเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น เนื่องจากจะมีผลให้เกิด

ผลขาดทุนสูงมาก และจะยกยอดไปใช้ได้เพียง 5 รอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ จึงใช้วิธีการคำนวณ

กำไรสุทธิโดยใช้อัตราผลตอบแทน("IRR") ที่บริษัทฯประมาณการขณะเข้าประมูลซื้อบัญชีลูกหนี้จาก ปรส

. คูณเข้ากับจำนวนเงินค่างวดที่ได้รับชำระจริงในรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ.2541 และในปีถัดมา

บริษัทฯ จะปรับปรุงอัตราผลตอบแทนดังกล่าวทุก ๆ 3 เดือน โดยคำนึงถึงปริมาณเงินสดที่ได้รับชำระจาก

ลูกหนี้ตั้งแต่แรก และปัจจัยเชิงสถิติอีกจำนวนหนึ่ง วิธีการนี้จะมีผลให้บริษัทฯ ไม่ต้องรับรู้รายจ่ายต้นทุน

การซื้อบัญชีลูกหนี้ที่จ่ายไปแล้วทั้งจำนวน ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิทันทีตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรก

และมีภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นจำนวนทั้งสิ้น 146 ล้านบาท บริษัทฯ หารือว่าการคำนวณกำไรสุทธิของ

บริษัทฯ โดยวิธีการดังกล่าวถือได้ว่าสอดคล้องกับเกณฑ์เงินสดแล้ว หรือไม่

2. เนื่องจากเงินค่าเช่าซื้อแต่ละงวดตามสัญญาเช่าซื้อนั้น ประกอบด้วยเงินต้นและดอกเบี้ย

เช่น สัญญาเช่าซื้อกำหนดให้ลูกค้าชำระเงินงวดละ 125 บาท ซึ่งประกอบไปด้วยเงินต้น 100 ดอกเบี้ย

25 บริษัทฯ ซื้อบัญชีลูกหนี้โดยผ่าน ปรส. ในราคา 40 เมื่อบริษัทฯ เลือกใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณ

กำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บริษัทฯ จะต้องปรับใช้เกณฑ์ดังกล่าวทั้งในส่วนของเงินต้นและ

ดอกเบี้ย ซึ่งได้แก่เงินค่างวด 125 ตามสัญญาเช่าซื้อทั้งจำนวน ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65

แนววินิจฉัย

1. กรณีที่บริษัทฯ ซื้อบัญชีลูกหนี้เช่าซื้อจากสถาบันการเงิน 56 แห่งที่ถูกสั่งพักกิจการ โดย

ผ่านองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน ("ปรส.") กรมสรรพากร ได้บรรเทาภาระภาษีโดยให้

เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อรับชำระราคาค่างวด แต่สำหรับการคำนวณรายจ่าย ให้ใช้หลักการจับคู่

ค่าใช้จ่ายกับรายได้ (MATCHING CONCEPT) กล่าวคือ เมื่อรับรู้รายได้ในงวดใดก็ต้องจัดสรรหรือเฉลี่ย

รายจ่ายให้สัมพันธ์กับรายได้ในงวดนั้นตามวิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป

2. เมื่อบริษัทฯ เลือกใช้เกณฑ์เงินสดในการคำนวณกำไรสุทธิแล้ว บริษัทฯ จะต้องปรับใช้

เกณฑ์ดังกล่าวกับเงินค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อทั้งจำนวน จะใช้เกณฑ์เงินสดในการรับรู้เงินต้น 100 และ

ใช้เกณฑ์สิทธิในการรับรู้ดอกเบี้ย 25 ไม่ได้




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/09558 ลงวันที่ 14 กันยายน 2542

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)