Skip to Content

เกณฑ์การรับรู้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินเรียกเก็บล่วงหน้าจากการขายสินค้า

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินเรียกเก็บล่วงหน้าจากการขายสินค้า


ข้อเท็จจริง

บริษัท ก. แจ้งว่า ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ หรือเงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิ์ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 ถือว่าวันที่รับรู้รายได้จากการขายสินค้าเกิดขึ้นเมื่อได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้านั้นให้แก่ผู้ซื้อ กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า ได้เรียกเก็บเงินล่วงหน้า (30%) กลางเดือนธันวาคม 2548 โดยการผลิตยังไม่เกิดขึ้นและยังไม่มีการส่งมอบสินค้า จะส่งมอบสินค้าเมื่อผลิตเสร็จปี 2549 จึงหารือว่า บริษัทฯ ต้องนำเงินรับล่วงหน้า (30%) ดังกล่าวเป็นรายได้เพื่อคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปีที่เรียกเก็บ (2548) หรือปีที่ส่งมอบสินค้า (2549) เนื่องจากการผลิตยังไม่เกิดขึ้นและความสำเร็จของเนื้องานยังไม่มี บริษัทฯ จะส่งมอบสินค้าเมื่อผลิตเสร็จ ดังนั้น บริษัทฯ ต้องนำเงินดังกล่าวรับรู้รายได้จากการขายสินค้าเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2549 ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและขายสินค้า ต้องรับรู้รายได้โดยใช้เกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.1/2528ฯ ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 กล่าวคือ การรับรู้รายได้จากการขายสินค้าเกิดขึ้นเมื่อบริษัทฯ ได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของสินค้านั้นให้แก่ผู้ซื้อ คือเมื่อบริษัทฯ ได้ส่งมอบสินค้าเมื่อผลิตเสร็จในปี 2549 ดังนั้น จึงต้องนำเงินล่วงหน้า (30%) มาคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4214 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)