เกณฑ์การรับรู้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ข้อเท็จจริงบริษัทฯ ประกอบกิจการนายหน้าและตัวแทน ในการประกอบกิจการบริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินจาก ผู้ให้กู้เพื่อนำไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์ ซึ่งมีทั้งหลักทรัพย์ที่มิได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และหลักทรัพย์ที่ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การที่บริษัทฯ ได้กู้ยืมเงินดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่ ผู้ให้กู้ตามสัญญา บริษัทฯ จึงหารือว่า ดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อนำไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์ตามกรณีดังกล่าวจะถือ เป็นรายจ่ายในการประกอบกิจการของบริษัทฯ หรือถือเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าต้นทุนของหลักทรัพย์ที่ซื้อมา กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543แนววินิจฉัยกรณีบริษัทฯ ได้ซื้อหุ้นมาเพื่อการลงทุนหาผลประโยชน์อันเข้าลักษณะเป็นทรัพย์สิน ราคาหุ้นที่ บริษัทฯ ได้ซื้อมาดังกล่าวถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินนั้น ส่วนดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินเพื่อนำมาซื้อหุ้นดังกล่าว หากการซื้อหุ้นเป็นส่วนหนึ่งของการ ดำเนินธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือเกี่ยวเนื่องโดยตรงต่อทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ดอกเบี้ยจากการกู้ยืม เงินดังกล่าวเกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด ให้บริษัทฯ ปฏิบัติดังนี้ 1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ ถือเป็นต้นทุนของทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน 2. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ทรัพย์สินนั้นอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์ ให้ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษี โดยบริษัทฯ จะต้องไม่นำดอกเบี้ยเงินกู้ยืมดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นต้นทุนของ ทรัพย์สินหรือรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน หรือไม่หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสีย ภาษีเงินได้นิติบุคคลอีก ทั้งนี้ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 375) พ.ศ. 2543 และตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 92) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อหรือให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2544 อนึ่ง วันที่ทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมที่จะใช้ได้ตามประสงค์นั้น คือวันที่บริษัทฯ มีกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าว ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/7653 ลงวันที่ 02 สิงหาคม 2544 |