Skip to Content

เกณฑ์การรับรู้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้เอกสารของทางธนาคารในการบันทึกบัญชี

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการใช้เอกสารของทางธนาคารในการบันทึกบัญชี


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ได้ปฏิบัติเกี่ยวกับการบันทึกบัญชี ดังนี้

1. เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการชำระเงินแก่เจ้าหนี้ของบริษัทฯ บริษัทฯ จึงใช้วิธีการชำระเงินโดยการโอนเงินผ่านธนาคารในการชำระหนี้ และเมื่อทางธนาคารโอนเงินจากบัญชีของบริษัทฯ ให้เจ้าหนี้ของบริษัทฯ เรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งเอกสารแสดงการตัดบัญชีของบริษัทฯ (Debit Advice) มาให้ เนื่องจากเจ้าหนี้ของบริษัทฯ มีทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับบริษัทฯ มักจะไม่ได้รับเอกสารจากเจ้าหนี้ตรงตามรอบระยะเวลาบัญชีของบริษัทฯ ในแต่ละเดือน กรณีดังกล่าว บริษัทฯ สามารถใช้เอกสารที่ได้รับจากธนาคารเป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชีได้หรือไม่

2. บริษัทฯ ประกอบกิจการขายสินค้าเป็นโครงการ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น บริษัทฯ ได้ดำเนินการ ดังนี้

2.1 เมื่อบริษัทฯ ทำสัญญาขายและติดตั้งให้กับลูกค้าแล้ว บริษัทฯ ก็จะทยอยส่งมอบสินค้าและดำเนินการติดตั้งให้กับลูกค้าตามสัญญา เมื่อบริษัทฯ ส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าบริษัทฯ ก็จะออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้าทันทีที่ส่งมอบ และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป

2.2 เมื่อสิ้นปี ตามรอบบัญชี บริษัทฯ จะใช้เกณฑ์สิทธิในการบันทึกรายได้และรายจ่ายโดยที่ในวันสิ้นปีบริษัทฯ จะ Cut off งานแต่ละ Project โดย Matching ระหว่างต้นทุนและรายได้ที่เกิดขึ้นจริง เพื่อรับรู้รายได้ประจำปี ซึ่งผู้สอบบัญชีของบริษัทฯ จะเป็นผู้สอบทานความถูกต้อง

3. การบันทึกบัญชีของบริษัทฯ ดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีอื่น ๆหรือไม่ อย่างไร และบริษัทฯ ควรปฏิบัติอย่างไรเกี่ยวกับการบันทึกรายการสินค้าคงเหลือกรณีขายเป็นโครงการและการรับรู้รายได้


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ ใช้วิธีการชำระเงินแก่เจ้าหนี้ทั้งในและต่างประเทศโดยการโอนเงินผ่านธนาคารจากบัญชีของบริษัทฯ ให้เจ้าหนี้ของบริษัทฯ สามารถใช้เอกสารที่ได้รับจากธนาคารเป็นหลักฐานในการบันทึกบัญชีได้

2. กรณีการขายสินค้าพร้อมให้บริการติดตั้ง พิจารณาได้ดังนี้

2.1 กรณีไม่มีการแยกรายการสินค้าและค่าบริการ ถือเป็นการขายสินค้าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งมอบสินค้า โอนกรรมสิทธิ์สินค้า ได้รับชำระราคาสินค้าหรือได้ออกใบกำกับภาษี แล้วแต่การกระทำใดเกิดขึ้นก่อน ตามมาตรา 78(1) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้ค่าสินค้าไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

2.2 กรณีแยกราคาสินค้าและค่าบริการต่างหากจากกัน ราคาสินค้าที่แยกให้ถือเป็นการขายสินค้าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นไปตามข้อ 2.1 ส่วนค่าบริการที่แยกให้ถือเป็นการให้บริการรับจ้างทำของความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระค่าบริการ เว้นแต่ ได้ออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระค่าบริการ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ตามมาตรา 78/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้จ่ายเงินได้ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ของค่าบริการ ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ทป.4/2528 ฯลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2530

3. การบันทึกบัญชีของบริษัทฯ สามารถใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไปวิธีการใดก็ได้ แต่ในการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ บริษัทฯ ต้องใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้หักด้วยรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/14736 ลงวันที่ 27 ตุลาคม 2540

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)