Skip to Content

เกณฑ์การรับรู้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับรู้รายได้และรายจ่ายเงินค่าซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลาง

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับรู้รายได้และรายจ่ายเงินค่าซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลาง


ข้อเท็จจริง

ตามที่สำนักงานสรรพากรภาคหารือเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับรู้รายได้และรายจ่ายเงิน ค่าซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลาง ราย บริษัท ล. จำกัด (บริษัทฯ) โดยมีรายละเอียดสรุปความได้ว่า บริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการบริหารและดูแลรักษาทรัพย์สินส่วนกลางและให้บริการสาธารณะและสาธารณูปโภค แก่ผู้ที่อาศัยอยู่ในโครงการ ล. ที่ให้เช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านพักอาศัยในระยะยาว 30 ปี โดยที่ดินและทรัพย์สิน ส่วนกลางทั้งหมดเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ก. จำกัด โครงการดังกล่าวไม่เข้าลักษณะเป็นหมู่บ้านจัดสรรหรือ อาคารชุดแต่อย่างใด จึงไม่สามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลอาคารชุด บริษัท ก. บริษัทฯ มีรายได้จากเรียกเก็บเงินจากผู้เช่าที่ดินในโครงการ ดังนี้

1. ค่าบริหารจัดการดูแลทรัพย์สินส่วนกลาง ซึ่งเรียกเก็บ 2 ครั้งต่อปีตามรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริง ไม่บวกกำไรเพิ่ม

2. เงินกองทุนเพื่อใช้ในการซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลางของโครงการในกรณีเกิดเหตุจำเป็นและฉุกเฉิน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น กรณีดินถล่มหรือน้ำท่วม เป็นต้น และบางกรณีอาจต้องซื้อทรัพย์สินใหม่เพื่อ ทดแทนทรัพย์สินเดิม ซึ่งเรียกเก็บจากผู้เช่าครั้งแรกเพียงครั้งเดียว

3. ค่าบริการสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ซึ่งเรียกเก็บตามต้นทุนที่เกิดขึ้น

บริษัทฯ เห็นว่า ในการรับรู้รายได้สำหรับเงินกองทุนเพื่อใช้ในการซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลางตาม 2. นั้น บริษัทฯ ควรบันทึกเป็นรายได้รับล่วงหน้า และรับรู้เป็นรายได้เมื่อมีการใช้เงินกองทุนตามเกณฑ์สิทธิ เนื่องจากเงินกองทุนนี้ ไม่ใช่เงินบริจาคหรือเงินช่วยเหลือ แต่เป็นเงินที่บริษัทฯ ได้รับมาเพื่อให้บริการตอบแทนในอนาคต จึงไม่ได้สามารถรับรู้เป็นรายได้ทั้งจำนวนในปีที่ได้รับเงิน อย่างไรก็ดี หากกรมสรรพากรเห็นว่า บริษัทฯ จะต้อง รับรู้เงินกองทุนเป็นรายได้ทันทีในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับเงินนั้น บริษัทฯ ขอทราบว่า บริษัทฯ สามารถบันทึก เป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีในปีที่บริษัทฯ ใช้เงินกองทุนได้หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 มาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

กรณีบริษัทฯ ประกอบกิจการให้บริการบริหารและรักษาทรัพย์สินส่วนกลาง ให้บริการสาธารณะและ สาธารณูปโภค โดยไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรหรือนิติบุคคลอาคารชุด และบริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินกองทุนจากผู้เช่าที่ดินทุกรายครั้งแรกเพียงครั้งเดียว เพื่อใช้สำหรับซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลางของโครงการในกรณีจำเป็นและฉุกเฉินซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต เมื่อบริษัทฯ มีหน้าที่ต้องดำเนินการดูแล รักษา ตลอดจน ซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลาง เงินดังกล่าวถือได้ว่าเป็นเงินค่าบริการในการดูแลทรัพย์สินส่วนกลาง บริษัทฯ จึงต้อง นำเงินที่ได้รับจากผู้เช่ามารวมคำนวณเป็นรายได้ของบริษัทฯ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อมีการจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินส่วนกลาง บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร นอกจากนั้น การดำเนินการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าว และมีสิทธินำภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ การให้บริการนั้น มาหักในการคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัทฯ ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2473 ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2551

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)