Skip to Content

เกณฑ์การรับรู้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีได้รับค่าสินไหมทดแทนจากอุทกภัยจากบริษัทประกันภัย

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีได้รับค่าสินไหมทดแทนจากอุทกภัยจากบริษัทประกันภัย


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ได้รับค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

1. บริษัทฯ ได้ประสบอุทกภัยในปี 2554 มีทรัพย์สินได้รับความเสียหาย แต่บริษัทฯ ได้ทำประกันภัยทรัพย์สินไว้กับบริษัทประกันภัยเป็นเงินจำนวน 843,073,000 บาท บริษัทฯ ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนคืนจากบริษัทประกันภัยบางส่วน โดยแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด ดังนี้

งวดที่ 1 ได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 200,000,000 บาท

งวดที่ 2 ได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 110,000,000 บาท

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า เงินค่าสินไหมทดแทนบางส่วนที่ได้รับดังกล่าวต้องนำไปคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ อย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

กรณีตามข้อเท็จจริงพิจารณาได้ดังนี้

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีบริษัทฯ ได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนความเสียหายบางส่วนอันเนื่องมาจากอุทกภัยจำนวน 2 งวด จากบริษัทประกันภัยตามข้อเท็จจริงดังกล่าว การรับรู้ผลเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย บริษัทฯ ต้องรับรู้รายได้โดยใช้วิธีการทางเกณฑ์สิทธิ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทประกันภัยแจ้งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่บริษัทฯ หากบริษัทฯ ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อชดเชยความเสียหายจากอุทกภัยในปี 2554 จากบริษัทประกันภัย ณ วันที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยและค่าสินไหมทดแทนดังกล่าว มากกว่าค่าความเสียหายของทรัพย์สินที่ทำประกันภัยไว้ เฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าต้นทุนของทรัพย์สินที่เหลือจากการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามมาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ย่อมได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 527) พ.ศ. 2554

2. ภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทประกันภัย ไม่เข้าลักษณะเป็นรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 77/1 (8) และมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่อยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/5858 ลงวันที่ 04 กรกฎาคม 2556

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)