Skip to Content

อื่นๆ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิต

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิต


ข้อเท็จจริง

บริษัท TOT ได้มีหนังสือโต้แย้งต่อกระทรวงการคลัง โดยชี้แจงเหตุผล ดังนี้

1. ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 ได้เห็นชอบ เรื่องการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากผู้ให้บริการโทรคมนาคม ในระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าคู่สัญญาภาคเอกชนจะต้องชำระภาษีสรรพสามิตโดยคำนวณค่าภาษีจากรายรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ทั้งนี้ คู่สัญญาภาคเอกชนมีสิทธินำเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่ได้ชำระแล้วตลอดทั้งปี (ไม่รวมดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือเงินเพิ่มใดๆ ) มาหักออกจากจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่คู่สัญญาภาคเอกชนต้องจ่ายให้บริษัทฯ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้แจ้งให้บริษัทฯ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี บริษัทฯ จึงได้ปฏิบัติตาม ดังนั้น กรณีบริษัท AIS หักภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ จึงถือเป็นการลดส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฯ

2. บริษัทฯ ไม่ได้มีการจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตให้แก่ AIS การที่ AIS หักภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ ถือเป็นการลดส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฯ ซึ่งทำให้บริษัทฯได้รับส่วนแบ่งรายได้จากยอดสุทธิน้อยลง เมื่อบริษัทฯ ไม่มีการจ่ายเงินให้ AIS จึงไม่ควรมีภาระภาษีใดๆ

3. บริษัทฯ เห็นว่า ค่าภาษีสรรพสามิตที่ AIS หักออกจากส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทฯ มิใช่การหักกลบลบหนี้ตามกฎหมาย เนื่องจาก AIS ไม่มีสิทธิเรียกร้องในเงินค่าภาษีสรรพสามิตจากบริษัทฯ มติคณะรัฐมนตรีมีผลเพียงเป็นการลดจำนวนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ AIS จะต้องจ่ายให้กับบริษัทฯ หาก AIS ไม่หักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายให้บริษัทฯ AIS ก็ไม่สามารถเรียกร้องให้บริษัทฯ ส่งเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่ AIS ชำระไปแล้วได้ ดังนั้น การที่บริษัทฯ ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี ถือเป็นการลดส่วนแบ่งรายได้จึงไม่มีภาระภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ จึงขอให้ทบทวนการตอบข้อหารือดังกล่าว ตามเหตุผลที่ได้ชี้แจงมา


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

แม้คณะรัฐมนตรีจะเห็นชอบให้ AIS มีสิทธินำเงินค่าภาษีสรรพสามิตที่ได้ชำระแล้วตลอดทั้งปี (ไม่รวมดอกเบี้ย ค่าปรับ หรือเงินเพิ่มใดๆ) มาหักออกจากจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ AIS ต้องจ่ายให้บริษัทฯ เมื่อสิ้นปีดำเนินการ ได้ก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแก้ไขสัญญาสัมปทานให้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ AIS ต้องจ่ายให้แก่บริษัทฯ ดังนั้น ภาระภาษีอากรของบริษัทฯ จึงเป็นไปตามสัญญาสัมปทานดังกล่าว




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706(กม.08)/3361 ลงวันที่ 08 พฤศจิกายน 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)