Skip to Content

อายุความประเมิน ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีอายุความการประเมิน

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีอายุความการประเมิน


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ประกอบกิจการขายอสังหาริมทรัพย์ โดยจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะและยื่น

แบบแสดงรายการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์และภาษีเงินได้นิติบุคคล ภายใน

กำหนดเวลามาตลอด บริษัทฯ หารือว่า

1. บริษัทฯ จะต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารหลักฐานการบันทึกบัญชีไว้กี่ปี และเมื่อพ้น

กำหนดเวลาแล้ว จะต้องขออนุมัติทำลายสมุดบัญชีและเอกสารต่อกรมสรรพากรหรือไม่

2. อายุความออกหมายเรียกตรวจสอบและอายุความประเมินเรียกเก็บภาษีเงินได้และ

ภาษีธุรกิจเฉพาะมีกำหนดเวลาอย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543, มาตรา 19, มาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารหลักฐานการบันทึกบัญชีไว้ 5 ปีนับแต่

วันปิดบัญชี ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543

2. กรณีตาม 2.

2.1 ภาษีเงินได้

(1) กรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่บริบูรณ์

เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกภายในสองปี นับแต่วันที่ยื่นรายการ ไม่ว่าการยื่นรายการนั้น

จะได้กระทำภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ทั้งนี้

แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง เว้นแต่กรณีปรากฏหลักฐานหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ยื่นรายการมีเจตนา

หลีกเลี่ยงภาษี หรือเป็นกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการคืนภาษี อธิบดีจะอนุมัติขยายเวลาการ

ออกหมายเรียกเกินกว่าสองปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ แต่กรณีขยายเวลาเพื่อ

ประโยชน์ในการคืนภาษีให้ขยายได้ไม่เกินกำหนดเวลาตามที่มีสิทธิขอคืนภาษีอากร ทั้งนี้ ตามมาตรา 19

แห่งประมวลรัษฎากร

(2) กรณีที่มิได้มีการยื่นแบบแสดงรายการ ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดระยะเวลา

การออกหมายเรียกไว้ จึงต้องใช้กำหนดระยะเวลาตามอายุความทั่วไป ที่เจ้าพนักงานมีอำนาจประเมิน

เรียกเก็บภาษีได้ภายในสิบปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ ตามมาตรา 193/31 แห่ง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดไว้ว่า "สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเก็บเอาค่าภาษีอากร

ให้มีกำหนดอายุความสิบปี ส่วนสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาหนี้ อย่างอื่นให้บังคับตามบทบัญญัติใน

ลักษณะนี้"

ทั้งนี้ อายุความการประเมินเรียกเก็บภาษีสามารถประเมินได้ภายใน 10 ปี นับแต่

วันยื่นแบบแสดงรายการหรือวันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการแล้วแต่กรณี

2.2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ภายใน

สิบปีตามกฎหมายมาตรา 193/31 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว โดยไม่ต้อง

ออกหมายเรียกแต่ประการใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/8629 ลงวันที่ 04 กันยายน 2544

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)