อัตราร้อยละ 0 ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีส่งสินค้าหรือบริการเข้าไปในเขตปลอดอากร
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีส่งสินค้าหรือบริการเข้าไปในเขตปลอดอากรข้อเท็จจริงบริษัท ท. (บริษัทฯ) สำนักงานตั้งอยู่นิคมอุตสาหกรรม จังหวัดระยอง เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ประกอบกิจการผลิตสายไฟรถยนต์และจะผลิตสินค้าชนิดใหม่ คือ การผลิตประตูรถยนต์ให้แก่ลูกค้าที่อยู่ในเขตปลอดอากร ปกติบริษัทฯ จะเป็นผู้ผลิตสินค้าและส่งเข้าไปในเขตปลอดอากร แต่กรณีการผลิตประตูรถยนต์ลูกค้าจะส่งโครงประตูรถยนต์มาให้ บริษัทฯ โดยส่งมาในแบบ Free of charge บริษัทฯ จะทำการประกอบโครงประตูรถยนต์กับวัตถุดิบอื่น ๆ ของบริษัทฯ ให้เป็น สินค้าสำเร็จรูปแล้วขายให้แก่ลูกค้าในเขตปลอดอากร บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. กรณีผลิตประตูรถยนต์ตามคำสั่งซื้อสินค้า เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของหรือเป็นการผลิตตามปกติของบริษัทฯ 2. กรณีเป็นการรับจ้างทำของ บริษัทฯ ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่และจะสามารถแยกค่าบริการออกจากค่าสินค้า ต่างหากหรือไม่ (จัดทำเอกสารคนละ Invoice เพราะมูลค่าสินค้าเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0) 3. กรณีได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 บริษัทฯ จะระบุคำว่า "สินค้ารวมค่าบริการ" ในใบกำกับภาษีได้หรือไม่ 4. กรณีได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 บริษัทฯ ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายใช่หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยบริษัทฯ ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม ผลิตประตูรถยนต์ให้กับลูกค้าในเขตปลอดอากร โดยลูกค้าจะส่งโครงประตูรถยนต์ มาให้บริษัทฯ และบริษัทฯ ได้ทำการประกอบโครงประตูรถยนต์กับวัตถุดิบอื่น ๆ ของบริษัทฯ ให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปแล้วส่งให้กับ ลูกค้าในเขตปลอดอากร เข้าลักษณะเป็นการรับจ้างทำของตามมาตรา 587 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อลูกค้าจ่าย ค่าจ้างให้บริษัทฯ ลูกค้าจึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายจากยอดรวมค่าวัตถุดิบอื่นๆ และค่าจ้างผลิตประตูรถยนต์ในอัตราร้อยละ 3.0 ไม่ว่าจะแยกค่าวัตถุดิบอื่นๆ และค่าจ้างออกจากกันหรือไม่ ทั้งนี้ ตามข้อ 8(2) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 และการให้บริการของบริษัทฯ เป็นการให้บริการในเขตปลอดอากรที่กระทำต่อตัวสินค้าและมีการส่งออก สินค้านั้น บริษัทฯ ย่อมได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร โดยจะต้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ทั้งนี้ ตามข้อ 2(4) และข้อ 4 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)ฯ ลงวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2543 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2688 ลงวันที่ 03 เมษายน 2552 |