Skip to Content

อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าโดยใช้สิทธิการนำเข้าของผู้ซื้อ

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขายสินค้าโดยใช้สิทธิการนำเข้าของผู้ซื้อ


ข้อเท็จจริง

1. บริษัทฯ ประกอบกิจการตัดและแปรรูปเหล็ก ได้นำเข้าเหล็กม้วนจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาตัดและแปรรูป แล้ว ขายให้แก่ บริษัท ช. ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุน ในการนำเข้าเหล็กม้วน บริษัทฯ มีข้อตกลงกับบริษัท ช. โดยให้ บริษัท ช. เป็นผู้ยื่นใบขนขาเข้าในนามตนเองเพื่อใช้สิทธิในการวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็น ประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษี ตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นผลทำให้ในขณะที่มีการนำเข้าเหล็กม้วน บริษัท ช. ไม่ต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในการประกอบกิจการ บริษัทฯ ได้นำเหล็กม้วนดังกล่าวมาตัดเป็นเหล็กแผ่นตามขนาดที่บริษัท ช. สั่งซื้อ และ ทยอยส่งมอบพร้อมกับการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าและได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่บริษัท ช. ทั้งนี้ บริษัทฯ และบริษัท ช. มีข้อ ตกลงทางการค้าเป็นลายลักษณ์อักษรว่า หากบริษัท ช. ไม่ได้ส่งสินค้าเหล็กแผ่นไปต่างประเทศซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ผิดเงื่อนไข การส่งเสริมการลงทุนอันเป็นเหตุให้บริษัท ช. ไม่ได้รับสิทธิในการวางประกันภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/8 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเหล็กม้วน โดยให้บริษัทฯ ดำเนินการสำแดงรายการต่อกรมศุลกากรแทนบริษัท ช. เมื่อบริษัทฯ ได้เสียค่าอากรขาเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแทนบริษัท ช. ไปก่อนแล้ว บริษัทฯ จะเรียกเก็บเงิน จำนวนดังกล่าวคืนจากบริษัท ช. เฉพาะจำนวนเงินที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ส่วนค่าอากรขาเข้า เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม บริษัทฯ จะเป็นผู้รับผิดชอบเอง บริษัทฯ จึงได้หารือว่า

(1) บริษัท ช. สามารถขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวได้หรือไม่

(2) กรณีบริษัทฯ จ่ายค่าอากรขาเข้าแทนบริษัท ช. บริษัทฯ สามารถนำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษี เงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี และมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. ภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ทดรองจ่ายแทนบริษัท ช. และเรียกเก็บคืนในภายหลัง เข้าลักษณะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ บริษัท ช. ซึ่งเป็นผู้นำเข้าได้เสียไปจากการนำเข้าสินค้า ถือเป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1 (8) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร หาก บริษัท ช. มีใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรระบุชื่อบริษัท ช. เป็นผู้จ่ายเงินค่าภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วบริษัท ช. ย่อมมีสิทธินำภาษี มูลค่าเพิ่มดังกล่าวมาใช้เป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5 แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีบริษัทฯ ต้องรับผิดชำระค่าอากรขาเข้าแทนบริษัท ช. หากบริษัทฯ มีข้อตกลงทางการค้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร ระหว่างกันว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายต้องรับผิดชำระค่าอากรขาเข้าแทนบริษัท ช. แล้ว เงินค่าอากรขาเข้าที่บริษัทฯ ออกแทนให้ ถือ เป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการ บริษัทฯ สามารถนำมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้อง ห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/9506 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2552

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)