หักภาษี ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และอากรแสตมป์ กรณียกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายและอากรแสตมป์
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และอากรแสตมป์ กรณียกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่ายและอากรแสตมป์ข้อเท็จจริงมหาวิทยาลัยฯ มีศูนย์เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ มีการดำเนินการเสนอราคาจัดจ้างพิมพ์หนังสือ เอกสาร ตำรา และสื่อสิ่งพิมพ์ ให้กับหน่วยงานราชการหลายแห่ง และเนื่องจากมหาวิทยาลัยฯ เป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการ หาวิทยาลัยฯ จึงขอให้ดำเนินการ ดังนี้ 1. ออกหนังสือรับรองการยกเว้นการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงต่อหน่วยราชการในการยกเว้นการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย 2. ออกหนังสือรับรองการยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับการกระทำตราสาร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 39 และมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. ศูนย์ฯ เป็นส่วนงานราชการของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ มีฐานะเป็นนิติบุคคลและเป็นส่วนราชการ ไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ดังนั้น เงินได้ค่าจ้างพิมพ์หนังสือ เอกสาร ตำรา และสื่อสิ่งพิมพ์ของศูนย์ฯ จึงไม่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด 2. ศูนย์ฯ ได้ทำสัญญารับจ้างพิมพ์หนังสือ เอกสาร ตำรา และสื่อสิ่งพิมพ์ ให้แก่หน่วยงานราชการหลายแห่ง เป็นการรับทำงานให้โดยมุ่งถึงผลสำเร็จของงาน เข้าลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามลักษณะแห่งตราสาร 4. จ้างทำของ แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ ศูนย์ฯ ดำเนินการหารายได้ในลักษณะของธุรกิจ และรายได้ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการของศูนย์ฯ ให้ศูนย์ฯเป็นผู้จัดเก็บ ดังนั้น การดำเนินการหารายได้ของศูนย์ฯ จึงเป็นการดำเนินกิจการหารายได้ในลักษณะของธุรกิจ เข้าลักษณะเป็นทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบการพาณิชย์ซึ่งตามมาตรา 121 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล...อากรเป็นอันไม่ต้องเสีย แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้ใช้แก่องค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบการพาณิชย์...” ดังนั้น ศูนย์ฯ จึงไม่ได้รับยกเว้นอากรแสตมป์สำหรับสัญญาจ้างทำของดังกล่าว ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ 0702/5979 ลงวันที่ 01 สิงหาคม 2561 |