หน่วยภาษี ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในนามห้างหุ้นส่วนสามัญ
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการเสียภาษีในนามห้างหุ้นส่วนสามัญข้อเท็จจริง1. ห้างหุ้นส่วนสามัญ น.09 จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2547 ไม่ปรากฏหลักฐานการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ เพื่อซื้อขายเรือนไม้ ไม้เสา มีหุ้นส่วน 2 คน ได้แก่ นาง ร. และนาง ก. โดย มีนาง ร. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เป็นรับเหมางานวิเคราะห์เครดิตและจัดทำสัญญา ทุกรูปแบบ 2. ห้างหุ้นส่วนสามัญ อ. 09 จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2547 ไม่ปรากฏหลักฐานการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ เพื่อซื้อขายเรือนไม้ ไม้เสา มีหุ้นส่วน 2 คน ได้แก่ นาง ร. และนาง ก. โดยมีนาง ร. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต่อมาวันที่ 30 ธันวาคม 2548 ได้เปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์เป็นรับเหมางานวิเคราะห์เครดิตและจัดทำ สัญญาทุกรูปแบบ 3. ห้างหุ้นส่วนสามัญทั้ง 2 ราย ประกอบกิจการวิเคราะห์ เครดิตและประเมินราคาหลักทรัพย์ของสมาชิกสหกรณ์เครดิต โดยมี นาง ร. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนสามัญทั้ง 2 ราย จึงขอทราบว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญทั้ง 2 ราย ถือเป็นหน่วยภาษีเดียวกันหรือไม่ และเงินได้จากการวิเคราะห์เครดิตและประเมินราคาหลักทรัพย์ของสมาชิก สหกรณ์เครดิต เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยหักค่าใช้จ่ายตามจำเป็นและสมควร ถูกต้อง หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 40(2)(8) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคน ขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์ จะแบ่งปันกำไรอันพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น ตามมาตรา 1012 แห่งประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ ผู้เป็นหุ้นส่วนต้องมีเจตนาโดยสุจริตร่วมกันในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ ต้องไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี โดยการจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญ หลายแห่งเพื่อแบ่งฐานภาษีทำให้เสียภาษีน้อยลง ต้องมีการดำเนินการร่วม กันในการประกอบกิจการตามความเป็นจริง มีการร่วมกัน รับผิดชอบในกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ เงินได้ที่ได้รับจากการประกอบ กิจการจะต้องเป็นของห้างหุ้นส่วนสามัญ กรณี ห้างหุ้นส่วนสามัญเชนนครนายก 09 และห้างหุ้นส่วนสามัญ อ. 09 มีนาง ร. และนาง ก. เป็นหุ้นส่วนโดยมีนาง ร. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ทั้งสองห้างฯ มีหุ้นส่วนเป็นบุคคลรายเดียวกัน จึงต้องถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่เป็น หน่วยภาษีเดียวกัน ดังนั้น ในการคำนวณภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคลดังกล่าวจะต้องนำเงินได้พึง ประเมินทั้งสิ้นที่ได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญ ทั้งสองแห่งมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 56 แห่งประมวล รัษฎากร 2. เงินได้จากการประกอบกิจการวิเคราะห์เครดิตและ ประเมินราคาหลักทรัพย์ของสมาชิกสหกรณ์เครดิต เงินได้ที่เกิดจาก การประกอบกิจการดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำ งานให้ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่ง ประมวลรัษฎากร อย่างไรก็ดี หากห้างหุ้นส่วนสามัญฯ มีหลักฐานในการประกอบ กิจการที่แสดงให้เห็นได้ชัดแจ้งว่า ได้ประกอบกิจการในรูปของธุรกิจ และสามารถพิสูจน์รายจ่ายในการประกอบกิจการได้ เช่นมีหลักฐาน ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิเคราะห์ เครดิตและประเมินราคาหลักทรัพย์ของสมาชิกสหกรณ์ จะเข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นการให้บริการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/1 (10) และ มาตรา 77/2 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/4706 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 |