Skip to Content

ส่งเสริมการขาย ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีส่งเสริมการขาย

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย กรณีส่งเสริมการขาย


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการ ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบธุรกิจให้เช่าซื้อ และให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง สินค้าประเภทเครื่องจักรกลการเกษตร เช่น รถแทร็กเตอร์ รถเกี่ยวนวดข้าว รถดำนา และอุปกรณ์ต่อพ่วง เป็นต้น ในการประกอบกิจการดังกล่าว ผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้า (เครื่องจักรกลการเกษตร) จะขายสินค้าให้ผู้แทนจำหน่าย แล้วผู้แทนจำหน่ายจะขายต่อให้ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ส่วนบริษัทฯ จะให้เช่าซื้อหรือให้เช่าแบบลีสซิ่งแก่ลูกค้าของ ผู้แทนจำหน่าย บางครั้งผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่ายได้ให้เงินช่วยเหลือเงินสนับสนุน แก่บริษัทฯ ในกรณีต่อไปนี้

1.ผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่ายจะร่วมกับบริษัทฯ ด้วยการให้ลูกค้าของบริษัทฯ เช่าซื้อทรัพย์สินโดยไม่คิดดอกเบี้ยตลอดอายุสัญญาหรือบางช่วงของสัญญา หรือให้บริษัทฯ ลดอัตราดอกเบี้ย ค่าเช่าซื้อให้ต่ำกว่าอัตราปกติ หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าอัตราตลาดทั่วไปภาระดอกเบี้ยค่าเช่าซื้อทรัพย์สิน ผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่ายจะเป็นผู้รับภาระแทนลูกค้าทั้งจำนวนหรือบางส่วน ตามข้อตกลง การจัดแคมเปญส่งเสริมการขายระหว่างบริษัทฯ กับผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่าย โดยจะจ่ายเงินให้บริษัทฯ

2.ในการประกอบกิจการของบริษัทฯ บริษัทฯ จะได้รับเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในด้านการตลาด ค่าโฆษณา หรือส่งเสริมการขายจากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือ ผู้แทนจำหน่าย เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ในการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ โบรชัวร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการติดต่อผู้จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ โบรชัวร์เอง และเรียกเก็บค่าใช้จ่าย จากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่าย โดยไม่ต้องมีเอกสารหลักฐานการชำระเงินหรือรายละเอียด การจัดกิจกรรมประกอบการเบิกเงินตลอดจนไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างบริษัทฯ กับผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่ายแต่อย่างใด

3.บริษัทฯ ขอทราบว่า เงินที่บริษัทฯ ได้รับจากผู้ขายหรือผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายจากการส่งเสริมการขายตามข้อ 1. และข้อ 2. มีภาระที่ต้องเสียภาษีอย่างไร


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 มาตรา 79 และมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1.กรณีตาม 1. ผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่ายจะร่วมกับบริษัทฯ ด้วยการให้ลูกค้าของบริษัทฯ เช่าซื้อทรัพย์สินโดยไม่คิดดอกเบี้ย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราปกติ หรือต่ำกว่าอัตราตลาดทั่วไป โดยผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่ายจะเป็นผู้รับภาระแทนลูกค้าทั้งจำนวนหรือบางส่วน โดยจะจ่ายเงินให้แก่บริษัทฯ และกรณีตาม 2. บริษัทฯ ได้รับเงินช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในด้านการตลาด ค่าโฆษณาเพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ ในการจัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ โบรชัวร์ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มยอดขาย โดยบริษัทฯ จะเป็นผู้ดำเนินการติดต่อผู้จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ โบรชัวร์เอง และเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่าย เงินที่บริษัทฯ ได้รับจากผู้ขายหรือผู้ผลิตสินค้าหรือผู้แทนจำหน่ายดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับจากการส่งเสริมการขาย โดยผู้ขายหรือผู้ผลิตหรือผู้แทนจำหน่ายที่เป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้จ่ายเงินได้มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/2 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528

2.กรณีเงินสนับสนุนหรือเงินช่วยเหลือที่บริษัทฯ ได้รับดังกล่าว บริษัทฯ ต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ถือเป็นมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือให้บริการตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วนภาษีซื้อที่เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดและค่าโฆษณาที่บริษัทฯ ได้จ่ายไปถือเป็นภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(3) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีสิทธินำภาษีซื้อดังกล่าวมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/3879 ลงวันที่ 15 มิถุนายน 2560

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)