สำรอง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินสำรองที่กันไว้เป็นค่าเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญข้อเท็จจริงบริษัท ง. (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อมาในปี 2547 ธนาคารแห่งประเทศไทยมีนโยบายให้สถาบันการเงินแข็งแกร่ง โดยให้บริษัทเงินทุนขนาดเล็กควบรวมกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ หรือปิดกิจการไปภายใต้นโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (One Presence) บริษัทฯ ได้คืนใบอนุญาตประกอบกิจการ (License) บริษัท เงินทุน ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อปิดสภาพเป็นบริษัทเงินทุนแต่ยังคงดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด เนื่องจากทรัพย์สินของบริษัทฯ ส่วนใหญ่ประกอบด้วยลูกหนี้สินเชื่อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งบริษัทฯ ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเงินทุน ได้หยุดรับรู้รายได้ดอกเบี้ยหลังจากรับรู้รายได้ดอกเบี้ยครบกำหนดเวลา 3 เดือน ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิ์ในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 โดยลูกหนี้ทั้งหมดมีทั้งกรณีที่มีคำพิพากษาจากศาลเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างการบังคับคดี และกรณีที่มีการบังคับคดีและยึดทรัพย์เรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างดำเนินการในส่วนต่างของมูลค่าทรัพย์สินและมูลหนี้ตามคำพิพากษา บริษัทฯ ขอหารือเกี่ยวกับลูกหนี้ดังกล่าวภายหลังที่เปลี่ยนสภาพจากบริษัทเงินทุนมาเป็นบริษัทจำกัด ดังต่อไปนี้ 1. บริษัทฯ สามารถรับรู้รายได้ดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ดังกล่าวในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับชำระเงิน โดยไม่ต้องรับรู้รายได้ดอกเบี้ยตามเกณฑ์สิทธิที่หยุดการรับรู้ไปแล้ว ใช่หรือไม่ 2. กรณีการประนอมหนี้ บริษัทฯ ได้ตกลงยกหนี้บางส่วนให้แก่ลูกหนี้ ถ้าลูกหนี้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุนครบถ้วนถูกต้องแล้ว บริษัทฯ สามารถนำผลขาดทุนดังกล่าว มาถือเป็นค่าใช้จ่าย ได้หรือไม่ 3. ในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญสำหรับลูกหนี้บางราย บริษัทฯ ได้ถือเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 65 ตรี (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ดังนั้น 3.1 บริษัทฯ ไม่ต้องรับรู้การตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญดังกล่าวเป็นรายได้ จนกว่าจะได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญดังกล่าวลดลง โดยนำเงินสำรองร่วมที่ตั้งลดลงที่ถือเป็นรายจ่ายแล้วมารวมเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตั้งเงินสำรองลดลง ใช่หรือไม 3.2 บริษัทฯ สามารถนำเงินสำรองส่วนที่เพิ่มขึ้นมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 69 ทวิ (9) และมาตรา 65 ตรี (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีตามข้อเท็จจริงข้างต้นลูกหนี้ที่เกิดขึ้นในขณะที่เป็นบริษัทเงินทุนฯ ต่อมาเมื่อบริษัทได้คืนใบอนุญาตการประกอบกิจการบริษัทเงินทุนฯ ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นผลทำให้มีการเปลี่ยนสถานะจากบริษัทเงินทุนฯ เป็นบริษัทจำกัด ดังนั้น สิทธิที่มีอยู่ในขณะเป็นบริษัทเงินทุนฯ จึงมีอยู่เช่นเดิม กล่าวคือ 1. กรณีตาม 1 บริษัทฯ มีสิทธิรับรู้รายได้ดอกเบี้ยสำหรับลูกหนี้ดังกล่าว ตามข้อ 4.1 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 1/2528 เรื่อง การใช้เกณฑ์สิทธิในการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ลงวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2528 2. กรณีการประนอมหนี้ตาม 2 หากบริษัทฯ ได้ดำเนินการตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ลงวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2534 บริษัทฯ มีสิทธินำผลขาดทุนดังกล่าว มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสิทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิ(9) แห่งประมวลรัษฎากร 3. กรณีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ สำหรับลูกหนี้ดังกล่าว บริษัทฯ มีสิทธินำเงินสำรองเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสิทธิได้ และบริษัทฯ ไม่ต้องนำเงินสำรองเผื่อหนี้สูญหรือหนี้สงสัยจะสูญ มาบวกกลับเป็นรายได้จนกว่าเงินสำรองดังกล่าวจะลดลงเนื่องจากมีการชำระหนี้ ทั้งนี้ ตามมาตรา 65 ตรี (1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4002 ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2549 |