สัญญาลีสซิ่ง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการประกอบกิจการให้เช่าเครื่องมือแพทย์
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการประกอบกิจการให้เช่าเครื่องมือแพทย์ข้อเท็จจริงบริษัท ท. จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าเครื่องมือแพทย์ โดยบริษัทฯ จัดหาโดยวิธีซื้อเงินสด และโดยวิธีทำสัญญาลีสซิ่งกับสถาบันการเงิน บริษัทฯ จึงขอทราบว่า 1. กรณีบริษัทฯ จัดหาเครื่องมือแพทย์โดยทำสัญญาลีสซิ่งกับสถาบันการเงิน บริษัทฯ จะนำดอกเบี้ยและค่าเช่าตามงวดของสัญญาลีสซิ่งมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้หรือไม่ 2. กรณีบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียนเกิน 60 ล้านบาทและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อบริษัทฯ นำเครื่องมือแพทย์ให้ลูกค้าที่เป็นนิติบุคคลเช่าโดยทำสัญญาลีสซิ่ง บริษัทฯ ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2528 หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528แนววินิจฉัย1. สัญญาลีสซิ่งเป็นสัญญาเช่าทรัพย์ประเภทหนึ่ง หากบริษัทฯ ได้จัดหาเครื่องมือแพทย์ด้วยการ ทำสัญญาลีสซิ่งกับสถาบันการเงินเพื่อนำเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวมาให้เช่า ค่าเช่าตามสัญญาลีสชิ่ง และดอกเบี้ยที่จ่ายตามสัญญาลีสซิ่งที่บริษัทฯ ได้จ่ายให้แก่สถาบันการเงินถือเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการ โดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำค่าเช่าและดอกเบี้ยที่จ่ายไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ ตามมาตรา 65 ทวิ (1) แห่งประมวลรัษฎากรได้ 2. การประกอบกิจการให้เช่าทรัพย์แบบลีสซิ่งหากบริษัทฯ มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้เมื่อบริษัทฯ ให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าว บริษัทฯ ก็จะไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด (ก) ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทฯ หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วไม่ต่ำกว่า60 ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3แห่งประมวลรัษฎากร (ข) ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล และ (ค) กำหนดเวลาเช่าต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่ารายอื่น ระยะเวลาในการให้เช่าอาจไม่ถึง 3 ปีก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 6 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 ฯลฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/พ./2168 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2550 |