Skip to Content

สวัสดิการพนักงาน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต


ข้อเท็จจริง

บริษัท ฟ. จำกัด ได้จ่ายเบี้ยประกันชีวิต ดังนี้

1. กรณีบริษัทฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้กับกรรมการของบริษัทฯ ตามมติที่ประชุมของบริษัทฯ ซึ่งบริษัทฯ มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายแทนไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล บุคคลธรรมดาที่เป็นกรรมการมีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวไปหักลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้หรือไม่

2. กรณีข้อกำหนดหรือมติที่ประชุมของบริษัทฯ กำหนดให้มีการจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ตลอดจนพนักงาน บิดามารดา สามี ภริยา และบุตรของพนักงาน บริษัทฯ จะนำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายแทนดังกล่าว ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ได้หรือไม่

3. กรณีบริษัทฯ มีมติให้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้แก่กรรมการทุกคน หรือพนักงานเป็นการทั่วไป และมีมติให้จ่ายกับกรรมการของบริษัทอื่นที่มาเข้ามาถือหุ้นในบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 25 อีกประมาณ 3-10 ท่าน บริษัทฯ จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้ด้วย หรือไม่

4. กรณีบริษัทฯ มีผลกำไรจากการประกอบกิจการ หากบริษัทฯ จะทำประกันชีวิตให้กับพนักงานของบริษัทฯ โดยคำนวณจากกำไรสุทธิ 100 บาท ทำประกันชีวิต 50 บาท ค่าเบี้ยประกันชีวิตดังกล่าวจะลงรายจ่าย ได้หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 48(1) มาตรา 56 มาตรา 65 ตรี (3)(13) และ (19) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1. บริษัทฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการและพนักงานของบริษัทฯ รวมทั้งผลประโยชน์ที่จะได้รับเป็นการทั่วไปตามระเบียบและสวัสดิการของบริษัทฯ โดยมติที่ประชุมของบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นประโยชน์ใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งกรรมการและพนักงานต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 48(1) และมาตรา 56 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกรรมการและพนักงานสามารถนำใบเสร็จรับเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตที่บริษัทรับประกันชีวิตออกให้นั้น มาใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนภาษีเงินได้ประจำปีได้เฉพาะในปีที่มีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันชีวิต และรายจ่ายดังกล่าว ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะและไม่ใช่รายจ่ายที่มีลักษณะเป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ(13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีตาม 2. บริษัทฯ ได้จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนผู้ถือหุ้น บิดามารดา สามี หรือภริยา และบุตรของพนักงาน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีตาม 3. บริษัทฯ จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแทนกรรมการของบริษัทอื่นที่เข้ามาถือหุ้นในบริษัทฯ ในอัตราร้อยละ 25 ประมาณ 3-10 ท่าน เข้าลักษณะเป็นรายจ่ายที่เป็นการส่วนตัวหรือการให้โดยเสน่หา มิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำค่าเบี้ยประกันชีวิตที่ออกให้นั้น มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

4. กรณีตาม 4. บริษัทฯ ทำประกันชีวิตให้กับพนักงานโดยนำกำไรสุทธิมาจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิต ถือเป็นการจ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว บริษัทไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (19) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/5334 ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)