Skip to Content

ลดหย่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีดอกเบี้ยกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อหรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย


ข้อเท็จจริง

สหกรณ์ฯ ได้เปิดให้บริการเงินกู้พิเศษ เพื่อการเคหะสงเคราะห์แก่สมาชิก โดยกำหนดวัตถุประสงค์ของเงินกู้ประเภทดังกล่าวไว้ ดังนี้

1. เพื่อซื้อที่ดินพร้อมบ้าน อาคารพาณิชย์ หรือทาวเฮาส์ หรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้าน สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง กรณีการกู้เพื่อซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างบ้าน จะต้องเป็นการกู้เพื่อดำเนินการในคราวเดียวกัน

2. เพื่อซื้ออาคารชุด หรือห้องชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง

3. เพื่อปลูกสร้างบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเองบนที่ดินของตนเอง หรือของคู่สมรส หรือของบิดาหรือมารดา หรือบนที่ดินที่ตนเองมีกรรมสิทธิ์ร่วมกับคู่สมรส หรือบิดา และหรือมารดา

4. เพื่อปลูกสร้าง ต่อเติม หรือปรับปรุงที่อยู่อาศัยของตนเอง

5. เพื่อไถ่ถอนบ้าน หรือบ้านพร้อมที่ดิน หรืออาคารชุด หรืออาคารที่พักในรูปแบบอื่น เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของตนเอง ที่ได้จำนองอันเนื่องจากการกู้เงินเพื่อการเคหะจากสถาบันการเงินอื่น

สหกรณ์ฯ จึงขอหารือเกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืมแก่สมาชิก เพื่อนำไปขอรับการยกเว้นภาษีเงินได้ ดังนี้

1. ตาม 1 ของหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) กำหนดเจ้าหนี้ไว้ 3 ประเภท ได้แก่ (1) ผู้ให้กู้ยืม (2) เจ้าหนี้ใหม่ (กรณีแปลงหนี้) และ (3) เจ้าหนี้ใหม่ (กรณีชำระหนี้เงินกู้ยืม) หากสหกรณ์ฯ ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 1-4 ถือว่าสหกรณ์เป็นผู้ให้กู้ยืม ตาม 1(1) ของหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) และกรณีสหกรณ์ฯ ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิก เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 5 ถือว่า สหกรณ์ฯ เป็นเจ้าหนี้ใหม่ ตาม 1(3) ของหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) ใช่หรือไม่

2. ตามข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 กำหนดว่า "เป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญากู้ยืมเงิน เพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ ตนเองมีสิทธิครอบครอง" กรณีดังกล่าวจะครอบคลุมที่ดินของตนเองที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับคนอื่น หรือไม่ หากเป็นที่ดินของคู่สมรส ของบิดา หรือของมารดา ไม่มีสิทธิยกเว้นภาษี ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(53) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

แนววินิจฉัย

1. กรณีสหกรณ์ฯ ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ 1-4 ถือว่า สหกรณ์ฯ เป็นผู้ให้กู้ยืมตาม 1(1) ของ หนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02) และกรณีสหกรณ์ฯ ให้เงินกู้ยืมแก่สมาชิกเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร หรือสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยหรือห้องชุดในอาคารชุดแก่เจ้าหนี้เดิม เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระนั้น ถือว่า สหกรณ์ฯ เป็น "เจ้าหนี้ใหม่" (กรณีชำระหนี้เงินกู้ยืม) ตาม 1(3) ของหนังสือรับรองดอกเบี้ยเงินกู้ยืม (ล.ย.02)

2. กรณีตามข้อ 2(2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 166)ฯ ลงวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2551 กำหนดให้การยกเว้นเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมต้องเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมตามสัญญาการกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ อาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด หรือเพื่อสร้างอาคารใช้อยู่อาศัยบนที่ดินของตนเองหรือบนที่ดินที่ตนเองมีสิทธิ ครอบครอง ดังนั้น ดอกเบี้ยที่เกิดจากการให้กู้ยืมเงินของสหกรณ์ฯ ที่จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ดังกล่าว จะต้องเป็นการให้กู้ยืม เงินเพื่อซื้อ เช่าซื้ออาคาร อาคารพร้อมที่ดิน หรือเพื่อซื้อห้องชุดในอาคารชุดไว้เป็นที่อยู่อาศัยประจำสำหรับตนเอง หรือเพื่อสร้างอาคาร ใช้อยู่อาศัยบนที่ดินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ของคู่สมรส ของบุตร ของบิดา หรือของมารดา ซึ่งผู้กู้ต้องมีสิทธิครอบครองในที่ดิน ดังกล่าวเท่านั้น และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับดังกล่าว




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2747 ลงวันที่ 07 เมษายน 2552

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)