ลดหย่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนค่าซื้ออาคาร
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการหักลดหย่อนค่าซื้ออาคารข้อเท็จจริงนาย ส. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินกับบริษัท ก. เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2544 ในราคา 3,200,000 บาท และทำหนังสือสัญญาขายที่ดินพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ (ท.ด.13) เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 และจดทะเบียนจำนองที่ดินกับธนาคารฯ โดยมีชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในบ้านและที่ดิน ดังกล่าว จำนวน 3 คน คือ นาย ส. นาย ก. และ นางสาว พ. สำนักงานสรรพากรจังหวัดหารือว่า กรณี นาย ส. ได้ทำสัญญาซื้อขายหรือสัญญาจะซื้อจะขายภายในวันที่ 7 กันยายน 2544 ถึงวันที่ 6 กันยายน 2545 จะได้รับเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 230 (พ.ศ. 2544) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 98)ฯ ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 หรือไม่ และหากได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออาคารดังกล่าวจะได้รับ ยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่าใด กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 42, กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯแนววินิจฉัย1. กรณี นาย ส. และพวกรวม 3 คน ทำสัญญาจะซื้อจะขายบ้านพร้อมที่ดินกับบริษัท ก. เมื่อ วันที่ 13 มิถุนายน 2544 ต่อมาได้ทำหนังสือสัญญาขายที่ดิน (ท.ด.13) พร้อมทั้งจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ในบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 และได้มีการชำระราคาบ้านพร้อม ที่ดินที่ซื้อดังกล่าวเป็นจำนวนเงิน 3,985,000 บาท แล้ว นาย ส. และพวกรวม 3 คน จึงมีสิทธิได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 230 (พ.ศ. 2544)ฯ และข้อ 1(1) (2) และ (3) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 98)ฯ ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 อย่างไรก็ดี เนื่องจากการชำระราคา ค่าซื้อบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวเป็นการผ่อนชำระราคาและมีการจำนองบ้านพร้อมที่ดินที่ซื้อไว้กับธนาคารฯ ตามโฉนดที่ดินจังหวัดกรุงเทพมหานคร ดังนั้น นาย ส. และพวกรวม 3 คน จึงมีสิทธิได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตามข้อ 2(2) ของ กฎกระทรวง ฉบับที่ 230 (พ.ศ. 2544)ฯ และข้อ 1(5) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 98)ฯ ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 2. กรณี นาย ส. ได้ร่วมกันซื้อบ้านพร้อมที่ดินกับนาย ก. และ นางสาว พ. รวม 3 คน นั้น ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้หลายคนซึ่งร่วมกันซื้อบ้านหรืออาคารพร้อมที่ดินได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้ทุกคนโดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกิน จำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน 100,000 บาท ดังนั้น เมื่อ นาย ส. และพวกรวม 3 คน ร่วมกันซื้อบ้าน พร้อมที่ดินและได้จำนองบ้านพร้อมที่ดินดังกล่าวกับธนาคารฯ นาย ส. จึงมีสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ เฉลี่ยค่าซื้อบ้านตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้ แต่รวมกันต้องไม่เกินจำนวนที่จ่ายจริง และไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/2508 ลงวันที่ 03 มีนาคม 2546 |