ลดหย่อน ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอเครดิตภาษีซื้อ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการลงรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการขอเครดิตภาษีซื้อข้อเท็จจริงบริษัท ก. ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และประกอบธุรกิจจำหน่ายน้ำหอม น้ำมันหอม หัวน้ำหอม และผลิตภัณฑ์ที่คล้ายคลึงกัน บริษัทฯ ได้นำเข้าสินค้าโดยมีบริษัท ข. เป็นตัวแทนในการนำสินค้าเข้ามาจากต่างประเทศ ต่อมากรมศุลกากรได้ทำการตรวจสอบกิจการของบริษัทฯ และตรวจพบว่าบริษัท ข. ในฐานะตัวแทนได้ทำการสำแดงราคาสินค้านำเข้าต่ำกว่าความเป็นจริง จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาว่าบริษัทฯ และบริษัท ข. ได้ร่วมกันกระทำผิดฐานสำแดงเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรอันเป็นความผิดตามมาตรา 27 และมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2549 เนื่องจากบริษัทฯ ในฐานะตัวการต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อกรมศุลกากรตามกฎหมาย บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการขอให้คณะกรรมการเปรียบเทียบทำการเปรียบเทียบคดีเพื่อให้เรื่องระงับไปโดยมิต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลตามความในมาตรา 102 และมาตรา 102 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2549 ซึ่งคณะกรรมการเปรียบเทียบของกรมศุลกากรได้วินิจฉัยให้บริษัทฯ จะต้องชำระเงินให้แก่กรมศุลกากรเป็นจำนวนเงินทั้งหมด 77,364,321 บาท โดยแบ่งออกเป็น 1. ค่าอากรที่ชำระขาดจำนวน 13,525,893 บาท 2. ค่าปรับอากรอีกสองเท่าของอากรที่ชำระขาดจำนวน 27,051,786 บาท 3. ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระขาดจำนวน 12,262,214 บาท 4. เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งเท่าจำนวน 12,262,214 บาท 5. เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอีกหนึ่งเท่าจำนวน 12,262,214 บาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า บริษัทฯ มีสิทธินำเงินที่ต้องชำระให้แก่กรมศุลกากรดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือมาเป็นเครดิตภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี มาตรา 77/1 มาตรา 82/3 และมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยเนื่องจากตามข้อเท็จจริงข้างต้น ปรากฏว่าบริษัทฯ มีฐานะเป็นตัวการในการนำเข้า และต้องรับผิดต่อกรมศุลกากรโดยตรงทั้งในทางแพ่งและทางอาญา โดยกรมศุลกากรได้พิจารณาให้บริษัทฯ ในฐานะตัวการผู้นำเข้าตามกฎหมาย ต้องชำระหนี้ภาษีอากรที่เกิดจากการนำเข้าทั้งหมดตามมาตรา 27 และมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2549 และตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) ดังนั้น การจ่ายเงินดังกล่าว จึงเป็นการจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทฯ จึงพิจารณาได้ดังนี้ 1. กรณีค่าอากรและค่าปรับอากรตาม 1. และ 2. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าอากรและค่าปรับอากรดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ ได้ เนื่องจากเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการของบริษัทฯ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีค่าภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 3. เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 4. และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 5. แยกพิจารณาได้ดังนี้ 2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 3. ที่บริษัทฯ ชำระให้กับกรมศุลกากร เข้าลักษณะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าได้เสียไปจากการนำเข้าสินค้า ถือเป็นภาษีซื้อตามมาตรา 77/1(18)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงมีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าว มาถือเป็นภาษีซื้อในเดือนภาษีที่ชำระภาษีตามการประเมิน ทั้งนี้ ตามมาตรา 82/3 วรรคสี่ มาตรา 84 และมาตรา 86/14 แห่งประมวลรัษฎากร 2.2 เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 4. และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มตาม 5. เป็นเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำเบี้ยปรับและเงินเพิ่มดังกล่าว มาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 ตรี (6) แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/472 ลงวันที่ 17 มกราคม 2550 |