รายได้/รายจ่ายต้องห้าม ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการซื้อขายกิจการบางส่วน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการซื้อขายกิจการบางส่วนข้อเท็จจริงบริษัทเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยประกอบกิจการผลิตนำเข้า ส่งออกขายส่งและขายปลีกสินค้าประเภทสีและเคมีภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสิ่งทอ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน2549บริษัทฯ (ผู้ซื้อ) และบริษัท ข.(ผู้ขาย)ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายกิจการบางส่วนโดยคู่สัญญาได้โอนและรับโอนทรัพย์สินและหนี้สินกิจการที่ซื้อขายประกอบด้วย ที่ดิน อาคาร โรงงาน เครื่องจักร อุปกรณ์ อะไหล่ วัตถุดิบและสินค้าคงคลังลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องกัน เป็นต้น การซื้อขายกิจการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาจากข้อตกลงซื้อขายกิจการระหว่างบริษัทผู้ถือหุ้นและบริษัทที่เกี่ยวข้องของผู้ซื้อและผู้ขายในต่างประเทศดังนั้นราคาซื้อขายกิจการระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายในประเทศไทยจึงถูกกำหนดให้สอดคล้องกับข้อตกลงดังกล่าวมีมูลค่าตามสัญญาโดยประมาณ 190 ล้านบาท สำหรับราคาตามบัญชีสุทธิ (net book value)ของกิจการดังกล่าวได้มีการประเมินราคาโดยผู้เชี่ยวชาญการประเมินราคาอิสระ ณ วันทำสัญญาซื้อขาย มีมูลค่ารวมโดยประมาณ 900 ล้านบาท บริษัท ข.ผู้ขายพิจารณาว่าราคาทรัพย์สินซึ่งถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญการประเมินราคาอิสระเป็นราคาตลาดตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากรบริษัทฯผู้ซื้อจะบันทึกบัญชีผลต่างระหว่างราคาซื้อขายและราคาตามบัญชีสุทธิเป็นจำนวนโดยประมาณ 710 ล้านบาทเป็นรายได้ค่าความนิยมติดลบ (negative goodwill)ตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปโดยทยอยรับรู้รายได้ตามอายุการใช้งานของทรัพย์สินที่รับโอนมา บริษัทฯขอเรียนหารือในประเด็นดังต่อไปนี้ 1. บริษัทฯ เข้าใจว่าตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรบริษัทฯผู้ซื้อยังไม่มีหน้าที่และความรับผิดทางภาษีอากรในการนำค่าความนิยมติดลบ(negative goodwill)มารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับซื้อกิจการดังกล่าวมาทั้งนี้เนื่องจากการรับซื้อกิจการมาในราคาต่ำกว่าราคาตามบัญชีสุทธิหรือราคาตลาดจะไม่ถือเป็นรายได้ของผู้ซื้อทันทีในรอบระยะเวลาที่ได้รับซื้อกิจการนั้นและบริษัทฯผู้ซื้อสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายหรือค่าเสื่อมราคาตามประเภททรัพย์สินที่ซื้อมาจากราคาซื้อขายใช่หรือไม่ 2. ในกรณีที่บริษัทฯผู้ซื้อต้องรับรู้รายได้ค่าความนิยมติดลบในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลบริษัทฯ ผู้ซื้อจะต้องทยอยรับรู้ค่าความนิยมติดลบเป็นรายได้ตามมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือบันทึกเป็นรายได้ทั้งจำนวนทันทีในปีที่ได้รับโอนกิจการหรือควรบันทึกในลักษณะอื่นใดหรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ บริษัทฯ ผู้ซื้อควรจะใช้ราคาทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามราคาซื้อขายหรือราคาตามบัญชีสุทธิเพื่อใช้ในการคำนวณค่าใช้จ่ายหรือค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ทวิ (3) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1.การซื้อขายกิจการบางส่วนระหว่างบริษัทฯ ผู้ซื้อและบริษัท ข.ผู้ขายตามข้อเท็จจริงบริษัทฯ ผู้ซื้อจะต้องนำส่วนต่างระหว่างราคาที่พึงซื้อทรัพย์สินนั้นได้ตามปกติตามมาตรา65 ทวิ (3)แห่งประมวลรัษฎากร และราคาซื้อขายตามสัญญา มารวมคำนวณเป็นรายได้ทั้งจำนวนทันทีในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับซื้อกิจการนั้นเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร 2. การซื้อขายกิจการบางส่วนระหว่างบริษัทฯ ผู้ซื้อและบริษัท ข. ผู้ขายตามข้อเท็จจริงบริษัทฯผู้ซื้อจะต้องใช้ราคาทรัพย์สินตามราคาที่พึงซื้อทรัพย์สินนั้นได้ตามปกติตามมาตรา 65 ทวิ(3)แห่งประมวลรัษฎากรมาใช้ในการคำนวณรายจ่ายหรือค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตามประเภททรัพย์สินในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/9031 ลงวันที่ 06 กันยายน 2550 |