Skip to Content

รายได้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิต

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิต


ข้อเท็จจริง

1. บริษัทฯ ได้มีหนังสือหารือกรณีมีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 พ.ศ. 2546 และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2546 ได้กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากการให้บริการในทางธุรกิจในสถานบริการสำหรับกิจการโทรคมนาคมที่ได้รับอนุญาตหรือสัมปทานจากรัฐ ซึ่งทำให้ผู้ประกอบกิจการสถานบริการสำหรับกิจการโทรคมนาคมที่ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ประชาชนทั่วไปที่เข้าทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์กับบริษัทฯ เป็นผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 2.2

2. แต่เนื่องจากการเรียกเก็บภาษีสรรพสามิตตามพระราชกำหนดฯ ทำให้เกิดผลกระทบกับผลตอบแทนตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนระหว่างบริษัทคู่สัญญาภาครัฐและภาคเอกชน กล่าวคือบริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนจะได้รับผลตอบแทนที่น้อยลงเพราะมีหน้าที่ต้องชำระภาษีสรรพสามิตในฐานะเป็นผู้ประกอบการ จึงถือเป็นภาระเพิ่มขึ้นโดยไม่สามารถคาดการณ์ได้ และเพื่อให้บริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิมตามที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้นำเงินส่วนของบริษัทฯ มาจ่ายชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตให้แก่บริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนเพื่อให้บริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิมตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนดังกล่า


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 79(2) มาตรา 65 มาตรา 65 ตรี (3) แห่งประมวลรัษฎากร คำสั่งกรมฯ ที่ ท.ป.4/2528ฯ

แนววินิจฉัย

เนื่องจากภาษีสรรพสามิตที่บริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนต้องชำระตามกฎหมายใหม่เป็นการเพิ่มภาระจึงถือว่าบริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนได้รับความเสียหายอันเป็นเหตุการณ์ที่เป็นข้อยกเว้นของสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนถือเป็นเหตุสุดวิสัย บริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนจึงมีสิทธิได้รับเงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตเพื่อให้บริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนได้รับค่าตอบแทนเท่าเดิม ตามสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุน ดังนั้น เงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตดังกล่าวเกิดจากข้อผูกพันตามสัญญาร่วมการงานระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทคู่สัญญาภาคเอกชน จึงเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการของบริษัทคู่สัญญาเอกชนตามสัญญาร่วมการงานระหว่างบริษัทฯ กับบริษัทคู่สัญญาภาคเอกชน จึงมีภาระภาษีดังต่อไปนี้

1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตที่บริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนได้รับถือเป็นรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทคู่สัญญาภาคเอกชนจึงต้องนำรายได้ดังกล่าวไปรวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับ ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และเงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิต บริษัทฯ ได้จ่ายไปจริงย่อมเข้าลักษณะเป็นรายจ่ายเพื่อกิจการของบริษัทฯ โดยเฉพาะ บริษัทฯ จึงถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตที่บริษัทฯ ได้จ่ายไป

ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ จึง

มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายทุกคราวที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 12/1 ของคำสั่ง

กรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ท.ป.104/2544ฯ ลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2544

3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินชดเชยค่าภาษีสรรพสามิตดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นฐานภาษีสำหรับการให้บริการ ซึ่งได้แก่มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตด้วย ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร การให้บริการดังกล่าวจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตราร้อยละ 7.0 ตามมาตรา 80(2) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706(กม.08)/1061 ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2547

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)