รายได้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้ที่ได้รับจากการขายที่ดินเพื่อชำระหนี้หลังจากการประนอมหนี้กับสถาบันการเงิน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้ที่ได้รับจากการขายที่ดินเพื่อชำระหนี้หลังจากการประนอมหนี้กับสถาบันการเงินข้อเท็จจริงสำนักงานสรรพากรภาคได้หารือกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีเงินได้ที่ได้รับจากการขายที่ดินเพื่อชำระหนี้หลังจากการประนอมหนี้กับสถาบันการเงิน ราย บริษัท ภ. จำกัด โดยมีข้อเท็จจริงสรุปได้ ดังนี้ 1.บริษัทฯ เป็นลูกหนี้บริษัทเงินทุนฯ. จำกัด โดยมีที่ดินเป็นหลักทรัพย์ประกันหนี้ ต่อมาบริษัทเงินทุนฯ ได้ฟ้องบริษัทฯ เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้และบริษัทฯ ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลในคดีดังกล่าว หลังจากนั้นปรากฏว่า บริษัทฯ ผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ บริษัทเงินทุนฯ จึงดำเนินการบังคับคดีโดยการยึดและอายัดทรัพย์สินของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2539 2. เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2540 บริษัทเงินทุนฯ ได้ถูกสั่งระงับการดำเนินกิจการและศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทเงินทุนฯ เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 ซึ่งบริษัทฯ ยังคงมีหนี้ค้างชำระกับบริษัทเงินทุนฯ เป็นจำนวน 139,412,908.95 บาท 3. วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2546 บริษัทฯ ได้ทำการประนอมหนี้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินโดยบริษัทฯ ได้ตกลงยินยอมที่จะชำระหนี้เงินต้นบางส่วนคงเหลือหนี้ค้างชำระเป็นจำนวน 38,000,000.00 บาท 4. วันที่ 4 มีนาคม 2546 บริษัทฯ ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ใช้เป็นหลักทรัพย์ประกันหนี้กับบริษัทเงินทุนฯ ไปให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อนำเงินค่าที่ดินมาชำระหนี้ตามข้อตกลงของสัญญาประนอมหนี้ที่ทำกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน โดยบริษัทฯ มิได้ทำหนังสือรับรองการโอนอสังหาริมทรัพย์เพื่อแจ้งเจ้าพนักงานที่ดินในขณะจดทะเบียนแต่อย่างใด บริษัทฯ จึงขอทราบว่า เงินได้ที่บริษัทฯ ได้รับจากการโอนขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อนำมาชำระหนี้แก่สถาบันการเงินดังกล่าวจะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 410)แนววินิจฉัยกรณีศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาให้บริษัทเงินทุนฯ เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 มีผลให้สถานะความเป็นบริษัทเงินทุนฯ เลิกกัน ณ วันที่ศาลล้มละลายกลางได้มีคำพิพากษาดังกล่าว ทั้งนี้ ตามมาตรา 1236(5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บริษัทเงินทุนฯ จึงสิ้นสภาพความเป็นสถาบันการเงินนับแต่วันดังกล่าว เนื่องจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่มีสถานะเป็น "เจ้าหนี้สถาบันการเงิน" ตามความของพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 410) พ.ศ.2545 การประนอมหนี้ของบริษัทฯ ที่ได้กระทำกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งได้กระทำการแทนบริษัทเงินทุนฯ ตามที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินได้มีหนังสือแจ้งขอให้บริษัทฯ มาทำการประนอมหนี้จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการประนอมหนี้กับเจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินหรือกับ "เจ้าหนี้อื่น" เนื่องจากไม่ปรากฏว่า บุคคลภายนอกที่เป็นผู้ซื้อที่ดินจากบริษัทฯ ได้เข้าร่วมดำเนินการเจรจากับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 410) พ.ศ. 2545 บริษัทฯ จึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์แต่อย่างใด กรณีการประนอมหนี้ที่บริษัทฯ ได้กระทำกับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายตามข้อเท็จจริงดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 340) พ.ศ.2541 แต่อย่างใด เนื่องจากการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการประนอมหนี้ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจะต้องปรากฏว่า บริษัทฯ เป็นลูกหนี้ในคดีล้มละลายที่ได้มีการประนอมหนี้นั้น แต่ตามข้อเท็จจริงเป็นคดีล้มละลายที่บริษัทเงินทุนฯ เป็นจำเลยและบริษัทฯ เป็นลูกหนี้ของจำเลยในคดีล้มละลายอีกทอดหนึ่ง ดังนั้น เงินได้ที่บริษัทฯ ได้รับจากการโอนขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกนี้ตลอดจนการกระทำตราสารที่เกี่ยวเนื่องกับการโอนขายที่ดินจึงไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์แต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/4034 ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2549 |