Skip to Content

รายได้ ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ที่อยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการรับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ที่อยู่ในระหว่างฟื้นฟูกิจการของศาลล้มละลายกลาง


ข้อเท็จจริง

บริษัท บ. จำกัด (บริษัทฯ) ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย ประกอบกิจการด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเป็นจำนวน 1,295,293,990 บาท (หนึ่งพันสองร้อยเก้าสิบห้าล้านสองแสนเก้าหมื่นสามพันเก้าร้อยเก้าสิบบาท) แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญที่ใช้เป็นเงินจนเต็มค่าแล้ว 129,529,399 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท บริษัทฯ ได้ร้องขอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 627/2543 ให้ฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ

ต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ พร้อมกับแต่งตั้งให้บริษัท พ. จำกัด (ผู้บริหารแผน) ซึ่งเป็นบริษัทจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศไทย เป็นผู้บริหารแผนของบริษัทฯ ตามแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ได้กำหนดให้ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้บริหารแผน จากการทำหน้าที่ผู้บริหารแผนของบริษัทฯ ซึ่งจะมีการจ่ายผลตอบแทนในรูปแบบของการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ให้แก่ผู้บริหารแผน หรือนิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนด

เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ดังนั้น หุ้นของบริษัทฯ จึงไม่มีราคาตลาดที่ขายให้ประชาชนทั่วไปที่จะอ้างอิงเป็นมูลค่าหุ้นได้ นอกจากนี้ หากคำนวณจากมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2549 ของบริษัทฯ หุ้นสามัญเพิ่มทุนดังกล่าวก็จะมีมูลค่าเป็นลบ

จากข้อเท็จจริงข้างต้น หากบริษัทฯ ได้ออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนร้อยละ 20 ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทฯ ซึ่งเท่ากัน 25,905,879 หุ้น มูลค่าจดทะเบียนหุ้นละ 10 บาท เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานของผู้บริหารแผนตามข้อกำหนดของแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ให้แก่ผู้บริหารแผน หรือนิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนดแล้ว จึงขอทราบว่า

1. หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ผู้บริหารแผน หรือนิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนดจะได้รับมาจากบริษัทฯ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช่หรือไม่

2. กรณีจะถือว่า ผู้บริหารแผน หรือนิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนด มี เงินได้พึงประเมินจากการได้รับหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทฯ ตั้งแต่วันที่บริษัทฯได้มีการบันทึกให้ผู้บริหารแผน หรือนิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนดเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ใช่หรือไม่

3. การคำนวณเงินได้จากหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ได้รับมาจากบริษัทฯ เพื่อการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ให้ถือว่าผู้บริหารแผนหรือนิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนด มีเงินได้เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ได้รับมาในมูลค่าที่จดทะเบียน (par Value) หรือเท่ากับจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ได้รับมาในมูลค่าราคาตลาดที่ขายให้ประชาชนทั่วไป หรือมูลค่าทางบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้รับกรรมสิทธิ์หุ้น (Book Value)

4. หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ผู้บริหารแผน หรือนิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนดจะได้รับมาจากบริษัทฯ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 40(8) มาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528ฯ

แนววินิจฉัย

1. กรณีตาม 1 และ 2 หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ผู้บริหารแผน หรือนิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนดจะได้รับมาจากบริษัทฯ ถือเป็นเงินได้ที่เป็นค่าตอบแทนจากการเป็นผู้บริหารแผนให้แก่บริษัทฯ ซึ่งต้องนำมารวมคำนวณกำไรและขาดทุนสุทธิ เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร โดยการคำนวณค่าตอบแทนที่ได้จะได้รับเป็นหุ้นดังกล่าวหากหุ้นดังกล่าวไม่มีราคาเสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไป แต่มีราคามูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par Value) ให้ถือมูลค่าหุ้นตามราคามูลค่าหุ้นที่ตราไว้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย โดย การคำนวณรายได้ให้ใช้เกณฑ์สิทธิ ตามมาตรา 65 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร         2. กรณีตาม 3 และ 4 หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ผู้บริหารแผน หรือ นิติบุคคลอื่นใดตามที่ผู้บริหารแผนกำหนดได้รับซึ่งเป็นค่าตอบแทนจากการเป็นผู้บริหารแผนของบริษัทฯ ถือเป็นเงินได้จากการให้บริการรับจ้างทำของ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งอยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3.0 ตามข้อ 8 ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6325 ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2550

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)