Skip to Content

รายจ่าย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่ารักษาพยาบาล

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่ารักษาพยาบาล


ข้อเท็จจริง

บริษัทฯ ได้จัดสวัสดิการให้แก่พนักงานเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล โดยระเบียบของบริษัทฯ กำหนดวงเงิน กรณีเจ็บป่วยทั่วไปของพนักงานทุกระดับไว้ไม่เกินคนละ 40,000 บาทต่อปี แต่ปรากฏว่า ในบางกรณีค่ารักษามีจำนวนเกิน 40,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัทฯ แต่เนื่องจากพนักงานผู้นั้น เป็นผู้ที่ทำงานให้กับบริษัทฯ มาเป็นเวลานานและเป็นผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญในการปฏิบัติงานของบริษัทฯเป็นอย่างมาก บริษัทฯ จึงให้ความช่วยเหลือในค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นทั้งหมด บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. ค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่พนักงานในส่วนที่มากกว่า 40,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทฯ ได้หรือไม่

2. ค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่พนักงานตามจำนวนที่พนักงานได้จ่ายไปจริงในการรักษาพยาบาล พนักงานจะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(4) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)ฯ ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 149 (พ.ศ. 2523)ฯ ใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ มีระเบียบการจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานทุกระดับไว้ไม่เกินคนละ 40,000 บาทต่อปี เมื่อบริษัทฯ จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้พนักงานคนใดเกิน 40,000 บาท ซึ่งเกินกว่าที่กำหนดไว้ในระเบียบของบริษัทฯ เงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกิน 40,000 บาท ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการส่วนตัวและมิใช่รายจ่ายเพื่อหากำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ จึงไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากร

2. ค่ารักษาพยาบาลที่พนักงานได้รับจากบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้หรือจ่ายแทนลูกจ้าง ซึ่งได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2(4)(ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/10504 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2548

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)