รายจ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล การให้ส่วนลดการขายก๊าซธรรมชาติแก่โรงไฟฟ้า
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล การให้ส่วนลดการขายก๊าซธรรมชาติแก่โรงไฟฟ้าข้อเท็จจริงบริษัท ป. ประกอบกิจการเป็นผู้จำหน่ายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบริษัท ป. มีโครงการจะให้ ส่วนลดทางการค้าแก่บริษัท U ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท ป. และเป็นเจ้าของโครงการโรงไฟฟ้าฯ (ขนาด 1400 เมกะวัตต์) ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าตั้งอยู่ที่จังหวัด ก. เนื่องจาก บริษัท U ตกลงที่จะย้ายโครงการโรงไฟฟ้าฯ จากจังหวัด ก. ไปยังจังหวัดฯ พร้อมกับเปลี่ยนเชื้อเพลิง ในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติ กรณีดังกล่าวจะทำให้บริษัท ป. ขายก๊าซธรรมชาติ ให้แก่โรงไฟฟ้าได้ในปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นตลอดจนอายุโครงการเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิดังกล่าวและเป็นการเพิ่มการตลาดบริษัท ป.จึงจำเป็นต้องสนับสนุนโครงการดังกล่าว โดยตกลงให้ส่วนลดการขายก๊าซธรรมชาติให้แก่บริษัท U ล่วงหน้าเป็นเงินสดจำนวนหนึ่งบริษัท ป. จึงขอ ทราบว่า 1. การให้ส่วนลดเป็นเงินสดแก่บริษัท U ดังกล่าวบริษัท ป. มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายใน การคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่ 2. การขายก๊าซธรรมชาติโดยให้ส่วนลดเป็นเงินสดดังกล่าว ถือเป็นเหตุอันสมควรตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร ใช่หรือไม่ 3. การให้ส่วนลดเป็นเงินสดแก่บริษัท U ซึ่งเป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติไปเพื่อใช้ในการผลิต กระแสไฟฟ้าขายบริษัท ป. ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หัก ภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ใช่หรือไม่ 4. การให้ส่วนลดเป็นเงินสดดังกล่าวไม่ถือเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นบริษัท U ไม่มีหน้าที่ ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัท ป. ใช่หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี (3), มาตรา 65 ตรี (13)แนววินิจฉัย1. กรณีบริษัท ป. ซึ่งเป็นผู้ขายก๊าซธรรมชาติจะให้เงินล่วงหน้าจำนวนหนึ่งแก่บริษัท U ซึ่ง เป็นผู้ซื้อก๊าซธรรมชาติกับบริษัท ป. ตามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างบริษัท ป.กับบริษัท U โดย เงินจำนวนดังกล่าวมีการกำหนดไว้เป็นจำนวนที่แน่นอน เพื่อสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท U ใน การเปลี่ยนพลังงานจากถ่านหินเป็นก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าของบริษัท U ตามนโยบายของ รัฐบาล อันเป็นเหตุทำให้บริษัท ป. ขายก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหา กำไรหรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ รายจ่ายดังกล่าวไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อ เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13)แห่งประมวลรัษฎากร 2. เนื่องจากบริษัท ป. จะขายก๊าซธรรมชาติให้กับผู้ซื้อที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าในราคาเดียวกัน กรณีจึงไม่มีประเด็นต้องพิจารณาเกี่ยวกับอำนาจการประเมินของเจ้าพนักงาน ในการโอนทรัพย์สิน ต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร 3. เงินที่บริษัท U ได้รับจากบริษัท ป. เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้ส่วนลดเนื่องจากการส่งเสริมการขาย แต่โดยที่บริษัท U ได้ซื้อก๊าซธรรมชาติจากบริษัท ป. เพื่อนำไปใช้ในการประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าของบริษัท U โดยตรง การจ่ายเงินได้ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามข้อ 12/2 ของ คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.4/2528 เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. 101/2544 ฯ ลงวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2544 แต่ประการใด 4. เงินที่บริษัท U ได้รับจากบริษัท ป. โดยบริษัท U ไม่ได้กระทำการอื่นใดเป็นการตอบแทน บริษัท ป. รายได้ดังกล่าวจึงไม่ใช่มูลค่าที่บริษัท U ได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ ตาม มาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ประการใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/3077 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2547 |