รายจ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิข้อเท็จจริง1. บริษัท ก. จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2539 สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่ที่ท่าเรือแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประกอบกิจการให้บริการเกี่ยวกับ ท่าเรือ ขนถ่ายสินค้าสำหรับเรือเดินทะเล ได้รับส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ตามบัตรส่งเสริม ลงวันที่ 3 กันยายน 2540 2. บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับ รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2539 ซึ่งเป็น รอบระยะเวลาบัญชีแรกของบริษัทฯ แสดงผลขาดทุนสุทธิจำนวน 10,516,366.33 บาท โดยมีรายได้ และรายจ่ายดังนี้ 2.1 รายได้ดอกเบี้ยรับจำนวน 7,023,152.28 บาท 2.2 รายจ่ายจำนวน 17,539,518.61 บาท ประกอบด้วย (1) เงินเดือน ค่าจ้าง 5,887,518.36 บาท (2) ค่าเช่า 1,495,961.84 บาท (3) ค่าธรรมเนียมในการให้คำแนะนำและปรึกษา 1,228,077.35 บาท (4) ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัท 4,124,258.47 บาท (5) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ 4,803,702.59 บาท 17,539,518.61 บาท ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้แก่ ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าซ่อมแซม ค่ารับรอง ค่าสอบ บัญชี ค่าภาษีค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ค่าประกันภัย และค่าเครื่องใช้สำนักงาน 3. บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่สำนักงานสรรพากรว่า บริษัทฯ มีสิทธินำค่าใช้จ่ายใน การจัดตั้งบริษัทตาม 2.2(4) จำนวน 4,124,258.47 บาท ไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ได้เพียงรายการเดียว สำหรับรายจ่ายรายการอื่น ๆ อีกจำนวน 13,415,260.14 บาท บริษัทฯ ไม่มีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิใน รอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 ทั้งจำนวน ต้องบันทึกเป็นรายจ่ายรอการตัดบัญชี 4. บริษัทฯ หารือว่า การบันทึกรายการค่าใช้จ่ายดังต่อไปนี้ ถูกต้องหรือไม่ 4.1 เนื่องจากรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2539 เป็นรอบระยะเวลาบัญชีแรกของบริษัทฯ ยังไม่ได้เริ่มประกอบกิจการใด ๆ จึงได้บันทึก รายจ่ายก่อนการดำเนินงานจำนวน 97,485,000.00 บาท ไว้ใน “บัญชีรายจ่ายก่อนการดำเนินงานรอ ตัดบัญชี (Deferred pre-operating)” ซึ่งจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเมื่อเริ่มมี รายได้จากการประกอบกิจการแล้ว รายจ่ายก่อนการดำเนินงานรอตัดบัญชี จำนวน 97,485,000.00 บาท ประกอบ ด้วย ค่าที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การดำเนินการขอสัมปทาน จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำเรื่องโครงสร้างของเงินทุน ให้คำแนะนำเรื่อง การก่อสร้าง สรรหาผู้ชำนาญการที่จำเป็นสำหรับโครงการรวมทั้งให้คำแนะนำช่วยเหลือในการเจรจา ต่อรองทำสัญญา 4.2 รายจ่ายทั้งหมดตามข้อ 2.2 ไม่ใช่รายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงนำไปบันทึกบัญชีเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2539 (Revenue Expenditure) กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรีแนววินิจฉัยกรณีตามข้อเท็จจริง บริษัทฯ มีสิทธินำรายจ่ายก่อนการดำเนินงานไปถือเป็นรายจ่ายใน การคำนวณกำไรสุทธิ ดังนี้ 1. รายจ่ายประเภทเงินเดือน ค่าจ้าง ค่าเช่า ค่าธรรมเนียมในการให้คำแนะนำและ ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งบริษัท ค่าพาหนะ ค่าที่พัก ค่าซ่อมแซม ค่ารับรอง ค่าสอบบัญชี ค่าภาษี ค่าประกันภัย และค่าเครื่องใช้สำนักงาน จำนวน 17,539,518.61 บาท ถือเป็นรายจ่ายเพื่อหากำไร หรือเพื่อกิจการโดยเฉพาะ บริษัทฯ มีสิทธินำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิใน รอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มดำเนินการได้ทั้งจำนวน ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (13) แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. รายจ่ายประเภทค่าที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ การดำเนินการขอสัมปทานจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ให้คำแนะนำเรื่องโครงสร้างของเงินทุน ให้ คำแนะนำเรื่องการก่อสร้างการสรรหาผู้ชำนาญการที่จำเป็นสำหรับโครงการ รวมทั้งให้คำแนะนำ ช่วยเหลือในการเจรจาต่อรองทำสัญญาจำนวน 97,485,000.00 บาท หากเป็นรายจ่ายเพื่อให้ได้มาซึ่ง สิทธิในสัมปทานจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ต้องห้ามนำไป ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มดำเนินการทั้งจำนวน ตามมาตรา 65 ตรี (5) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ให้หักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ.2527 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/32502 ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2543 |