รายจ่าย ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้รับอนุมัติให้ประกอบกิจการโรงกลั่นน้ำมัน โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและกลุ่มบริษัทเชลล์ฯ ได้ร่วมลงทุน บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างโรงกลั่นโดยใช้เงินลงทุนโครงการทั้งสิ้น 2,250 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งประกอบด้วยเงินทุนจากผู้ถือหุ้น 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อมาบริษัทฯ เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องและอาจต้องเรียกเงินจากผู้ถือหุ้นตามสัญญา ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะดังกล่าวและเพื่อลดต้นทุนเงินกู้ บริษัทฯจึงว่าจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อดำเนินการ Refinance เงินกู้จำนวน 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯใหม่ โดยกู้ยืมเงินชำระหนี้เดิมและบริษัทฯ จะมีหนี้ใหม่ตามจำนวนที่กู้ ซึ่งจะมีการปรับปรุงระยะเวลาการผูกพันหนี้ให้นานขึ้นและเป็นการลดภาระทางการเงินของบริษัทฯ การดำเนินการดังกล่าว บริษัทฯ จะต้องได้รับอนุมัติจาก ปตท. กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของบริษัทฯ ไม่ได้รับสิทธิ ให้นำผลกำไรหรือขาดทุนจากการตีราคาทรัพย์สินหรือหนี้สินที่มีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีมาคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 บริษัทฯ จึงขอให้กรมสรรพากรพิจารณาผ่อนผันให้บริษัทฯ ได้รับสิทธิตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าว กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยผลขาดทุนจากการกู้เงินเพื่อชำระหนี้เงินกู้เดิม (Refinance) ของบริษัทฯ มิได้เกิดจากการคำนวณค่าหรือราคาของทรัพย์สินหรือหนี้สิน ซึ่งมีค่าหรือราคาเป็นเงินตราต่างประเทศที่เหลืออยู่ในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีที่สิ้นสุดในหรือหลังวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 บริษัทฯ จึงไม่อาจนำผลขาดทุนดังกล่าวมาคำนวณเป็นรายได้หรือรายจ่ายตามคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.72/2540 เรื่องการปฏิบัติเกี่ยวกับการคำนวณรายได้และรายจ่ายของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเนื่องจากการปรับปรุงระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา ลงวันที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ได้ ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/02253 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 |